ธ.โลกชี้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยโต2% ตัวเลขต่ำสุดรอบ11ปี-สาวโรงงานเสี่ยงตกงานสูง

ธนาคารโลกมองจีดีพีไทยปี 2552 โตได้แค่ 2% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ส่งออกชะลอตัวมาก ท่องเที่ยวรับผลกระทบหนัก ขณะที่การลงทุนและการบริโภคชะลอ สาวโรงงานเสี่ยงตกงานย้ายเข้าภาคเกษตร คาดไตรมาส 4 จีดีพีหดเหลือ 0.8% แต่ไม่เกิดภาวะเงินฝืด

 ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า

จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีหน้า จะทำให้ภาคการส่งออกที่แท้จริงขยายตัวได้เพียง 2% แต่หากคิดเป็นการส่งออกที่ยังไม่ได้หักเงินเฟ้อ การส่งออกของไทยปีหน้าจะขยายตัว 8% ชะลอลงจากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 19.5%
ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2% ชะลอตัวลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% โดยอัตราการเติบโต 2% ถือเป็นการขยายตัวในระดับต่ำที่สุดในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา


 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกปีหน้าของไทยชะลอตัวลงมาก คือ การที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยชะลอตัวลงมาก ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าน้อยลง เช่นเดียวกับในด้านการท่องเที่ยว ที่จะได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และยังได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศด้วย


 ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการลงทุนและการบริโภคก็คาดว่า

จะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยการลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 จะขยายตัวได้ไม่มาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของลูกค้ามากขึ้น ทำให้สินเชื่อไม่ขยายตัวมากเท่ากับปีนี้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปีนี้ปรับลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของปีก่อน ทำให้การลงทุนจริงมีไม่มาก

 ดร.กิริฎากล่าวด้วยว่า

การชะลอตัวของภาคธุรกิจและการบริโภคจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในปีหน้า
โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในครั้งนี้ คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และคนงานที่ถูกเลิกจ้างนี้อาจจะหันไปพึ่งพางานในภาคเกษตรหรือทำกิจการค้าปลีกมากขึ้น


 นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้ด้วยว่า

น่าจะขยายตัวได้เพียง 0.8% ซึ่งเป็นผลมาจากภาคบริการที่อาจจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเลยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในกลางไตรมาส รวมทั้งการส่งออกก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐก็คาดว่าไม่ขยายตัวเพิ่มจากปีก่อนเช่นกัน


 "แม้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีนี้ และเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัวลง แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเหมือนกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างรุนแรง" ดร.กิริฎากล่าว


 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบมากกว่าไทย ดังนั้น ไทยอยู่ในสถานะที่จะปรับตัวได้ จากที่มีการคาดกันว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติปี 2554-2555 ประเทศไทยก็ควรใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์