นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ปี 51 ว่า ในด้านคุณภาพคนพบว่าอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% โดยมีผู้ว่างงาน 450,000 คน และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5-6 แสนคน จากที่คาดว่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 450,000 คน ในปี 51 ทำให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเตรียมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น เพราะหากมีการเลิกจ้าง 600,000 คน สปส. จะมีภาระการจ่ายเงินชดเชยประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาท สูงกว่ากระแสรายรับจากเงินสมทบ
ทั้งนี้ สศช. คาดว่าในปี 52 จะมีผู้ว่างงาน 900,000-1,200,000 คน ซึ่งยังไม่นับรวมกรณีที่เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน
ทำให้ สปส.มีภาระจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้น แต่จากเงินกองทุนสะสมที่ยังมีอยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ยังสามารถรองรับภาระกรณีที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 500,000-600,000 คนได้ อย่างไรก็ตาม จากการจ้างงานในไตรมาส 2 และ 3 ที่ชะลอตัวของภาคการผลิตที่ใช้แรงงานสูงติดต่อกันสะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างการผลิตและบริการของประเทศ เริ่มเปลี่ยนไปสู่การใช้แรงงานที่มีคุณภาพมากและมีผลิตภาพสูงขึ้น แต่จากผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปี 49-51 พบว่ามีโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานถึง 20.3% ขณะที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำเพียง 36.9% ส่วนสถานศึกษาอาชีวศึกษาผ่านเกณฑ์คุณภาพระดับดีถึง 51.6% ส่วนสถาบันอุดมศึกษา ผ่านเกณฑ์ระดับดีและดีมาก ถึง 99.3% แต่คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในการประเมินของผู้จ้างงาน เห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้หางานทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนายังไม่มีระบบชัดเจน สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการเท่าที่ควร
รวมทั้งคุณภาพการศึกษาทั้งระบบยังพบว่ามีความสัมฤทธิผลที่ต่ำ ส่วนการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีอัตราผ่านการประเมินเพียง 30%
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการลงทุนปรับทิศทางการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวมและมีการบูรณาการปัจจัยสนับสนุนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาของสถานศึกษาและลำดับความรุนแรง ควบคู่กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชนโดยร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งโรงเรียน วัดและบ้านให้เป็นกลไกขับเคลื่อนในการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องทั้งในสถานศึกษาและชุมชน”
ด้านนายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมไทย มียอดการจ้างงาน 500,000 คน
คาดว่ากรณีเลวร้ายที่สุด ที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจในประเทศซบเซา และปัญหาการเมือง จะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน 20% หรือ 100,000 คน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเลิกจ้างงาน ทั้งนี้สมาคมโรงแรมไทย วางแผนว่าจะจัดมหกรรมการขายที่พัก โดยจะขายแพ็กเกจพิเศษเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มเติมจากที่จะจัดเพื่อนักท่องเที่ยวไทยด้วย.