เมื่อ 7 ธ.ค. หลังสำนักงานรักษาความปลอดภัยด้านอาหารของไอร์แลนด์ (เอฟเอสเอไอ) พบสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมู
โดยมีปริมาณมากกว่าที่กฎหมายกำหนดราว 80-200 เท่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษระบุ ผู้บริโภคกินเนื้อหมูปนเปื้อนสารไดออกซินติดต่อกันนาน 40 ปี จึงจะมีอาการเจ็บป่วยแสดงออกมาให้เห็น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านอาหารกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูปนเปื้อนเกิดจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำจากโรงงานผลิตขนมปังและโดนัทในไอร์แลนด์มาแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำให้หมูที่กินอาหารปนเปื้อนมีไดออกซิน สะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเตือนไปยังประชาชนไอร์แลนด์ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ทำจากเนื้อหมูซึ่งผลิตหลังจากวันที่ 1 ก.ย. 2551
หรือเลี่ยงเนื้อหมูทุกประเภทไปจนกว่ารัฐบาลจะประกาศผลตรวจสอบความปลอดภัยที่ชัดเจน ด้าน รมว.กระทรวงเกษตรเกรงวิกฤติอาหารปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไอร์แลนด์ โดย อ้างอิงแรงงานกว่า 5,000 คน ในโรงงานผลิตหรือแปรรูปเนื้อหมูทั่วประเทศซึ่งอาจถูกปลดเพราะผลประกอบการลดลง ส่วนเปเดร็ก วอลเช ประธานสมาคมเกษตรกรแห่งไอร์แลนด์ เผยว่า ปัญหาสารไดออกซินปนเปื้อนในเนื้อหมูครั้งนี้อาจทำให้ เกษตรกรสูญเสียรายได้หลายร้อยล้านยูโร
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษซึ่งนำเข้าเนื้อหมูจากไอร์แลนด์มากเป็นอันดับหนึ่ง สั่งเตือนประชาชนมิให้บริโภคผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่าปนเปื้อนไดออก-ซินจากไอร์แลนด์แล้ว
ในวันเดียวกันรัฐบาลสวีเดน เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง สั่งระงับการจำหน่ายสินค้าที่ทำจากเนื้อหมูของไอร์แลนด์แล้ว ฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรประบุในแถลงการณ์ ว่าผู้เชี่ยวชาญจากหลายชาติสมาชิกยุโรปซึ่งอาจประสบปัญหาเนื้อหมูปนเปื้อนสารไดออกซินจากไอร์แลนด์ เตรียมหารือกันในวันอังคาร หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป.