เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย “ฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย” ฉบับที่ 27 (440/2551)
โดยระบุว่ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่บริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ จ.พัทลุง ลงไปมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนที่ตกหนักและปริมาณน้ำที่สะสมอยู่ตามแนวเทือกเขา ดังนั้นขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณ จ.พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระมัดระวังอันตราย จากภัยธรรมชาติดังกล่าว
ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือและชาวประมงระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ (1-2 ธ.ค.)
อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป โดยที่ภาคเหนือมีอุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศา ทำให้มีอากาศหนาวถึงหนาวจัดทางตอนบนของภาค และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่บริเวณยอดดอยสูงในระยะนี้
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ 11 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่
ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ติดธงแดง ประกาศให้ประชาชนในเขตตัวเมืองหาดใหญ่และรอบนอกรีบอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของและเตรียมเข้าอยู่ในที่ปลอดภัยเนื่องจากน้ำจะท่วมภายใน 6-30 ชั่วโมงข้างหน้า ล่าสุดน้ำเริ่มไหล เข้าท่วมเขตใจกลางเมืองโดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจการค้า ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ถนนทุกสายที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตัว อ.หาดใหญ่ ติดขัดอย่างหนักเนื่องจากพื้นที่โดยรอบทั้งถนนลพบุรีราเมศวร์ ถนนเพชรเกษม และกาญจนวานิชถูกน้ำท่วมทั้งหมดและอยู่ในระดับที่อันตรายรถเล็ก ไม่สามารถผ่านได้
ขณะที่ จ.นราธิวาส ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี อ.สุคิริน ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำสายหลัก 3 สาย
คือ แม่น้ำสุไหงโก-ลก บางนราและสายบุรี ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งสูงกว่า 1 เมตรเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทางการเกษตรริมแนวตลิ่งและที่ราบลุ่มเป็นวงกว้างใน 12 อำเภอ 43 ตำบล 209 หมู่บ้าน หนักที่สุดที่ อ.สุไหงโก-ลก โดยทางจังหวัดได้สนธิกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เร่งให้การช่วยเหลืออพยพประชาชนที่ประสบภัย
ส่วนเรื่องสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่องนั้น วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้ประกาศให้ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน
จากการสำรวจความต้องการเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ของประชาชนในถิ่นทุรกันดารต้องการเครื่องนุ่งห่มกันหนาวกว่า 290,000 คน โดยทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรสาธารณกุศล เพื่อขอรับบริจาคเครื่องนุ่งห่มกันหนาว แจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป.