ถ้าสถานการณ์การเมืองไม่คลี่คลายสิ้นเดือนนี้ และมีการปิดสนามบินจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 134,000-215,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีขยายตัวเหลือ 4.1-4.4% แบ่งเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 76,120 ล้านบาท การส่งออก 25,000-40,000 ล้านบาท การลงทุน 12,000-40,000 ล้านบาท และผลกระทบต่อการบริโภค 21,000-30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว มีการหยุดชุมนุมและยกเลิกปิดสนามบินในสัปดาห์นี้ ความเสียหายจะลดลงเหลือเพียง 73,000-130,000 ล้านบาท ส่งผลให้ จีดีพีเติบโต 4.5-4.8% แบ่งเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 42,000-75,000 ล้านบาท การส่งออก 10,000-24,000 ล้านบาท การลงทุน 6,000-11,000 ล้านบาท และผลกระทบต่อการบริโภค 15,000-20,000 ล้านบาท
“ในความเห็นส่วนตัว อยากเห็นสถานการณ์จบสิ้นโดยเร็ว ซึ่งรัฐบาลต้องเลือกทางแก้ไขให้จบสิ้นได้โดยเร็ว แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็ต้องยุบสภา หรือลาออก เพื่อหาทางออกให้สังคมตามที่ผู้ชุมนุมเรียก ร้องและตั้งคณะรัฐบาลใหม่ขึ้นมาทำงานแทนได้ แต่ยอมรับว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสหนึ่งปีหน้ามีปัญหา เพราะโครงการเมกะโปร เจคท์ การเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจแสนล้านจะชะงัก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้นทันที แต่จะเป็นผลดีในระยะยาวเพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อจะกระทบต่อภาพรวมมากกว่า”
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า
การเติบโตจีดีพีปี 52 มีโอกาสขยายตัวเหลือเพียง 2-3% ได้ เพราะนอกจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีปัญหาแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจภายในทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ถูกกระทบจากเรื่องการส่งออก การบริโภคของประชาชน การลงทุน และที่สำคัญคือการจ้างงานที่คาดว่าถ้าเศรษฐกิจโต 2% จริงยอดการว่างงานจะเพิ่มเกิน 1 ล้านคน
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า
ผลสำรวจกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุปิดสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว 218 ตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 79.60% ได้รับผลกระทบ ขณะที่ 20.40% ไม่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด การปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กระทบถึง 9.6 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน ขณะที่สถานการณ์ทางการเมือง 8.7% วิกฤติการเงินโลก 8.3 คะแนน.