คณะนักวิจัยสหรัฐกำลังศึกษาพัฒนาวัคซีนป้องกันและยาบำบัดรักษาโรคซาร์ส ซึ่งเคยคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปถึงเกือบ 800 คน ในการแพร่ระบาดครั้งก่อนเมื่อปี 2545-2546
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานวานนี้ว่า คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโลไรนาและมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ของสหรัฐ กำลังทำงานร่วมกันในโครงการดังกล่าว โดยใช้วิธีการสังเคราะห์ตัวแปรไวรัสโคโรนา (ซีโอวี) ในค้างคาว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2545-2546 ทำให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโรคซาร์สกว่า 8,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 774 คน
นายราล์ฟ เบริค หนึ่งในหัวหน้าคณะวิจัยชุดนี้ เปิดเผยว่า วัคซีนและยาบำบัดที่คณะของเขากำลังพัฒนานี้จะใช้ได้กับไวรัสโรคซาร์สทุกสายพันธุ์ และว่าคณะนักวิจัยกำลังศึกษาจุดกำเนิดและการเคลื่อนที่ของไวรัสโรคซาร์สในค้างคาว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าไวรัสอื่น ๆ ถึง 4 เท่า เพื่อแกะรอยและวิเคราะห์การ "กระโดด" ของไวรัสโรคซาร์สจากสายพันธุ์หนึ่งไปยังอีกสายพันธุ์หนึ่งด้วย
นายเบริค ระบุว่า คณะนักวิจัยเชื่อว่าไวรัสโรคซาร์สมีต้นกำเนิดจากค้างคาวก่อนที่จะแพร่เข้าสู่มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยมีตัวแร็คคูนและชะมดเป็นพาหะ และว่าโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาบำบัดโรคซาร์สนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์กับโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยาบำบัดไวรัสอื่น ๆ ได้ด้วย