เอกชนหวั่นสินค้าหลายรายการ ส่อถูกเพื่อนบ้านแย่งตลาด
หากวืดลงนามความตกลงค้าเสรีอาเซียนเดือนธันวาคมนี้ แนะหาทางประชุมรัฐสภาให้ได้ หวังผ่านข้อตกลงได้ทัน ด้าน "ไชยา" เตรียมหารือ ครม.หาทางออก ชี้ช่อง ครม.ให้ลงนามก่อนได้ ให้รัฐสภาเห็นชอบภายหลัง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า
หากไทยไม่สามารถลงนามข้อตกลงทางการค้ากับอาเซียนที่มีร่วมกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้ จะทำให้สินค้าหลายรายการได้รับความเสียหาย จากการเข้าถึงตลาดช้ากว่าประเทศคู่แข่งกันเองในอาเซียน โดยสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำตาล อาหารทะเล และสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เสื้อผ้า ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และยังส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะการปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้า หมายถึงแต้มต่อที่จะเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น
"ยิ่งช้า ก็จะยิ่งเสียเปรียบมาก เพราะอาเซียนอื่นๆ จะเข้าถึงตลาดนั้นได้ก่อน ซึ่งสินค้าที่จะเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ สินค้าที่อาเซียนอื่นก็มีศักยภาพเหมือนได้ เช่น สิ่งทอ อาหารทะเล ผมไม่อยากให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ควรรีบประชุมและพิจารณาเห็นชอบก่อน ซึ่งปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย" นายพรศิลป์กล่าว
ด้านนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า
จะนำเรื่องการลงนามข้อตกลงต่างๆ ในการประชุมผู้นำอาเซียนที่จะมีขึ้น เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากความล่าช้าการลงนามและให้มีผลบังคับใช้ในข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า ซึ่งข้อตกลงนี้เบื้องต้นได้ผ่านกระบวนการเจรจามาหมดสิ้นแล้ว เหลือเพียงให้รัฐสภาเห็นชอบ
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า
หากรัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้ทัน ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้การทำข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาก่อนนั้น ครม.สามารถพิจารณาให้ไทยลงนามก่อนได้ แล้วจึงมาให้รัฐสภาเห็นชอบในภายหลัง ซึ่งการลงนามไม่ได้หมายความว่า ข้อตกลงนั้นๆ จะมีผลบังคับใช้ทันที ทุกประเทศที่ลงนามต้องดำเนินการภายใน เช่น ให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบเหมือนกรณีของไทย จากนั้นจึงให้สัตยาบันข้อตกลง จึงจะมีผลบังคับใช้ได้