"โอฬาร" ชี้เงินหยวนจ่อขึ้นเงินสกุลหลักแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ศูนย์กลางการเงินโลกโยกมาอยู่เซี่ยงไฮ้ หลังวิกฤติการเงินฉุดสภาพคล่องเงินดอลลาร์เหือดหาย "ศุภวุฒิ" มองมนุษย์เงินเดือนและรากหญ้ากระทบ เหตุส่งออกชะลอตัว ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดือดร้อน
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทของเอเชียในวิกฤติการเงินโลก” ในการเสวนาประจำปี 2551 เรื่อง “กระแสวิกฤติแห่งศตวรรษ” จัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า แม้วิกฤติการเงินโลกจะทำให้ประเทศในเอเชียได้รับความเสียหายบ้าง โดยคิดเป็นมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเอเชีย เช่น จีน และญี่ปุ่น จะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ดังนั้นมองว่าวิกฤติครั้งนี้จะทำให้ศูนย์กลางการเงินของโลกย้ายไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในขณะที่ค่าเงินสกุลหลักของโลกจะเปลี่ยนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินหยวน หรือหยวนบวกเยน
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ คือ
จีนมีกำลังทหารที่เข้มแข็ง การมีฐานการผลิตที่มั่งคง และมีระบบแบงก์ที่ใหญ่ อีกทั้งมีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก จึงมองว่าจีนน่าจะเข้ามารับบทบาทนี้ เพื่อช่วยเหลือเอเชียและโลกได้ และโอกาสที่สกุลเงินหยวนจะเป็นเงินสกุลหลักของโลกก็มีโอกาสเป็นไปได้
ศ.ดร.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษการเสวนาประจำปี 2551 เรื่อง “กระแสวิกฤติแห่งศตวรรษ” ในงานเดียวกัน ระบุว่า
โลกกำลังเผชิญวิกฤติใหญ่ 4 วิกฤติ ได้แก่ วิกฤติประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก วิกฤติพลังงาน และวิกฤติอาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวรับมือกับวิกฤติเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วิกฤติอาหารจะเป็นโอกาสทองของเมืองไทย
ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า
วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลต่อภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จากการที่ส่งออกชะลอลง และกระทบกับภาคเกษตร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรลดลง ทำให้กลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มคนระดับล่างที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบ
ด้าน ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า
การส่งออกในปี 2551 คงจะชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องผลักดันการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การจะผลักดันการลงทุนได้นั้นรัฐบาลก็ต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น