พ่อค้าที่ทำธุรกิจซื้อขายฟอสซิลทั่วโลกต่างรู้กันดีว่า ราคาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของแท้อายุหลายร้อยล้านปีขึ้นอยู่กับ "ความหายาก" บวกกับ "สภาพความสมบูรณ์" ฟอสซิลหอย
จระเข้ แพนด้ายักษ์ ลิงอุรังอุตัง ปลาจูแรสสิก แม้ซากเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 150-100 ล้านปีมาแล้ว พอๆ กับฟอสซิลไดโนเสาร์ ทว่าราคากลับเทียบกันไม่ได้ นั่นเพียงเพราะเด็กๆ ชอบไดโนเสาร์
ภาพกิ้งก่ายักษ์เท่าตึก 3 ชั้น อยู่ในจินตนาการของเด็กทุกคน ทำให้พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในโลกล้วนอยากได้ฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ บางประเทศพบเพียงไข่หรือรอยเท้าเพียงเล็กน้อยก็สร้างพิพิธภัณฑ์ ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับเสาะหาฟอสซิลจากประเทศอื่นๆ มาเพิ่มเติม ยิ่งทำให้ความต้องการฟอสซิลไดโนเสาร์เพิ่มขึ้นทุกปี
ราคาซื้อขายฟอสซิลไดโนเสาร์ล่าสุดจากเว็บไซต์ชื่อดังพบว่า ชิ้นที่ไม่สมบูรณ์ขนาดความยาว 5 นิ้ว ราคาจะอยู่ที่ 1-2 หมื่นบาท แต่ถ้าสวยสมบูรณ์ราคาจะพุ่งไปถึง 3 แสนบาท ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 5-10 ปีที่แล้วกลับพบว่า ฟอสซิลไดโนเสาร์ในตลาดมืดลดน้อยลง เนื่องจากนักอนุรักษ์รณรงค์ต่อต้านธุรกิจซื้อขายฟอสซิล เพราะถือเป็นการทำลายมรดกโลกด้านบรรพชีวินวิทยาและธรณีวิทยา
สำหรับประเทศไทยกลุ่มที่ลักลอบซื้อขายฟอสซิลไดโนเสาร์ภาคอีสานจะเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดมืด โดยเฉพาะในหมู่นักสะสมของเก่า นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิจัยด้านฟอสซิลของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะถูกขโมยมาจากหลุมขุดไดโนเสาร์ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว "คม ชัด ลึก" เคยรายงานเจาะลึกถึงตลาดใหญ่ ที่ลักลอบค้าฟอสซิลไดโนเสาร์ บริเวณตลาดพระเครื่องข้างสถานีขนส่ง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดย "เฮียเล็ก" หนึ่งในเจ้าของร้านขายพระเครื่องและของเก่าให้ข้อมูลไว้ว่า การซื้อขายกระดูกไดโนเสาร์เริ่มขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน โดยชาวบ้านนำกระดูกไดโนเสาร์ที่ขุดได้มาขอให้แกะเป็นพระเครื่อง
ต่อมาปี 2545 เกิดข่าวลือทำให้กลุ่มนักสะสมและพ่อค้ากระดูกไดโนเสาร์ในขอนแก่นตื่นเต้นกันทั่วหน้าว่า มีพ่อค้าคนหนึ่งติดต่อขายกระดูกไดโนเสาร์ได้ราคาท่อนละ 1 ล้านบาท ไม่นานนักวิจัยฝรั่งและญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามาติดต่อขอซื้อฟอสซิลไดโนเสาร์ โดยเฮียเล็กยอมรับว่าตัวเขาเองก็เคยขายก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายไข่ไดโนเสาร์ให้ฝรั่งไปในราคา 1,000 บาท
เช่นเดียวกับเจ้าของแผงในตลาดพระเครื่องข้างต้นก็เคยขายฟอสซิลไดโนเสาร์อายุ 100 ล้านปี เป็นกระดูกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ให้แก่ฝรั่งคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัด ในราคา 7,000 บาท พร้อมยืนยันเสียงแข็งว่าเป็นของจริงแน่นอน เพราะคนที่นำมาขายให้เป็นอดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง
ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลไดโนเสาร์ กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลว่า แก๊งค้าฟอสซิลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มนักสะสม 2.พ่อค้านายทุนซื้อไปขายตลาดมืด 3.ชาวต่างชาติที่ซื้อแล้วลักลอบนำออกนอกประเทศ
ส่วนขั้นตอนของแก๊งปล้นทรัพย์แผ่นดินจะเริ่มจากสำรวจข่าวการขุดพบซากฟอสซิลที่ไหนบ้าง แล้วจึงลงพื้นที่ว่าจ้างชาวบ้านใกล้เคียงกับแหล่งขุดค้นพบให้สอดแนมว่า เจ้าหน้าที่สำนักธรณีวิทยาขุดพบอะไรบ้างและมีวิธีขุดค้นอย่างไร จากนั้นเอเย่นต์จะให้ชาวบ้านแอบขุดมาขาย บางครั้งก็มาตรวจรับสินค้าถึงพื้นที่ หรือถ้าสนิทสนมไว้ใจกันได้ก็จะให้นำฟอสซิลใส่รถกระบะขนมาส่งให้ถึงกรุงเทพฯ แล้วคัดเฉพาะชิ้นสวยๆ ส่งขายในหมู่นักสะสม ส่วนชิ้นส่วนทั่วไปก็จะวางขายที่ตลาดนัดจตุจักร
"ผมเคยเจอชาวบ้านมานั่งยองๆ ดูเวลาผมขุด บางคนทำท่าอยากช่วยเหลือ เสร็จแล้วก็มีคนแจ้งว่ากลางคืนเขากลับมาลักลอบขุดไปขาย ขนใส่เต็มรถกระบะ พวกนี้จะทำลายแหล่งขุดค้นจนเสียหาย โดยเฉพาะที่หลุมขุดภูเวียง"
นอกจากจะลักลอบขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ขายให้พ่อค้านักสะสมแล้ว มีบางส่วนที่ติดต่อขายให้กรมทรัพยากรธรณี ดร.วราวุธ อธิบายว่า สำหรับนักธรณีวิทยา การขุดกระดูกไดโนเสาร์แบบผิดวิธีนำมาขาย จะทำให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ลดลงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นจรรยาบรรณเลยที่นักวิจัยจะไม่ซื้อ เพราะจะยิ่งทำให้ตลาดนี้โตขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากเตือนคนไทยทั้งประเทศว่า อย่าซื้อ อย่าขาย อย่าอยากได้ เพราะเป็นการทำลายชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ของโลก
จากการสำรวจข้อเท็จจริงที่ภูเวียง ซึ่งฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยถูกขุดพบครั้งแรกที่นี่เมื่อปี 2519 หลังจากนั้นมีการขุดพบต่อเนื่องอีก 9 หลุม "ปรีชา ซ้ายหนองขาม" เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการลักลอบขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ตามหลุมขุดต่างๆ ที่อยู่ในป่าลึกไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล
หลุมขุดที่ถูกทำลายมากที่สุดคือหลุ่ม 4 หรือหลุมโนนสาวเอ้ เมื่อปี 2536 มีการขุดพบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่อายุ 130 ล้านปี ฟอสซิลเกล็ดปลา และกระดองเต่า กระจายอยู่ในรัศมี 10 เมตร ปัจจุบันถูกบุกรุกทำลายเหลือเพียงร่องรอยและเศษดินเท่านั้น
ไม่เฉพาะภูเวียงที่ถูกทำลาย แม้แต่หลุมขุดภูกุ้มข้าวของวัดสักกะวัน ที่พบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดกว่า 700 ชิ้น คาดว่ามาจากไดโนเสาร์ประมาณ 7 ตัว อายุกว่า 130 ล้านปี ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากฝีมือแก๊งค้าฟอสซิลได้ นักธรณีวิทยาจึงต้องสร้างอาคารหลุมขุดป้องกันขโมยเอาไว้