บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานถึงภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบไตรมาส 3 ปี 2551 ว่า มีมูลค่าประมาณ 1,549,197 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.7 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาส 2
สาเหตุเป็นผลจากคอนโดมิเนียมที่มีการเปิดโครงการไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มทยอยสร้างเสร็จเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงการจัดงานกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนช่วยในการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงนี้
สำหรับภาวะตลาดของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ สถาบันการเงินยังคงเดินหน้าทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเริ่มหันมาทำแคมเปญด้านราคามากขึ้น เพื่อช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคที่อาจจะลังเลจากภาวะเศรษฐกิจให้ตัดสินใจเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถาบันการเงินต่างยังคงเดินหน้าทำการตลาดที่เข้มข้นในการกระตุ้นธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางชะลอตัว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การชะลอตัวของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2551 อาจจะมีผลต่อเนื่องไปสู่ปี 2552 โดยปัญหาวิกฤติการเงินโลกมีแนวโน้มส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว
โดยเฉพาะภาคส่งออกและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีผลมาสู่การจ้างงานภาคธุรกิจต่าง ๆ และอาจมีผลต่อภาวะรายได้ของผู้บริโภค กระทบถึงอำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย ความเสี่ยงเหล่านี้ยังทำให้สถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ปรับลดประมาณการสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2551 ลง
โดยคาดว่ายอดคงค้างน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,588,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2550