นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า
ปี 52 คาดว่ายอดคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศของภาคอุตสาหกรรมลดลง 15% คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนการบริโภคของประชาชนในประเทศคู่ค้าลดลงตาม ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาห กรรมในปัจจุบันเฉลี่ยลดลงเหลือ 70%
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า
ภาคอุตสาหกรรมได้ทยอยส่งข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในปี 52 โดยคาดว่าสิ้นเดือนนี้จะสามารถส่งแบบสอบถามได้ครบ 39 กลุ่มอุตสาหกรรม ล่าสุดมากกว่า 60% ตอบกลับมาออร์เดอร์ลดเฉลี่ย 10-20% ซึ่งหากภาพรวมลดลงในระดับนี้จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดลงไปพอสมควรจากที่ปี 51 คาดว่าการส่งออกรวมทั้งหมดน่าจะอยู่ระดับ 1.7-1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า
ปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่างชาติจากยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนและบังกลาเทศมาไทย เนื่องจากค่าแรงและต้นทุนการผลิตของทั้งสองประเทศปรับเพิ่มในอัตราใกล้เคียงกับไทย ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งเพิ่มบุคลากรในการรองรับกับการขยายตัว เพราะปัจจุบันมีแรงงานเพียง 1.06 ล้านคน ซึ่งยังขาดแคลนอีก 1 แสนตำแหน่ง โดยเครื่องนุ่งห่มต้องการมากสุด 2-3 หมื่นคน
“โรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯมี 4,500 แห่งโดย 10% เป็นนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาซื้อกิจการของคนไทยที่กำลังปิดกิจการหรือประสบปัญหาการเงินเพราะจะง่ายกว่าการมาตั้งโรงงานเอง ขณะเดียวกันเชื่อว่าแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ตกงานแน่นอนเห็นได้จากช่วงวิกฤติปี 40 ที่โรงงานหลายแห่งต่างรักษาแรงงานกึ่งฝีมือไว้เพราะหายาก แต่อาจใช้วิธีตกลงเจรจากัน เช่น ลดเวลาทำงาน หรือให้เอางานกลับไปทำที่บ้านได้”.