ฮัลโหลอันตราย ใช้มือถือโดนฟ้าผ่า

มีเสียงเตือนกันมาหลายครั้งหลายหน

กับการใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนฟ้าคะนองกระจาย ว่ากันว่าคลื่นมือถืออาจเป็นสื่อนำพาประจุไฟฟ้าผ่านเข้าสู่ร่างกาย

ที่ผ่านมาบาดเจ็บล้มตายกันนักต่อนัก!?!

เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเด่น เกิดทอง อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48/3 ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่พาพรรคพวกไปนั่งตกปลาอยู่ที่สันเขื่อนริมทะเลนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แล้วใช้โทรศัพท์มือถือท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำ พูดคุยอยู่ได้ไม่นานฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงลงมา

พ.ต.ท.บำรุง รักษ์บำรุงสกุล สว.เวรประจำวัน สภ.อ.สัตหีบ รับแจ้งเกิดเหตุฟ้าผ่า

คนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณสันเขื่อนริมทะเลบ้านอำเภอ ม.3 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบนายเด่นนอนร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดอยู่บนสันเขื่อน ในสภาพเสื้อกางเกงมีร่องรอยถูกไฟไหม้เกรียม ที่หน้าอกและขาทั้งสองข้าง มีรอยถูกฟ้าผ่าเป็นแผลพุพอง ที่เกิดเหตุพบคันร่มที่ทำจากเหล็กถูกฟ้าผ่าขาดครึ่ง ในมือยังกำโทรศัพท์มือถือโนเกีย รุ่น 3310 สภาพพังยับเยินไว้แน่น หน่วยกู้ภัยมูลนิธิโรจนธรรมสถานสัตหีบ รีบนำตัวนายเด่นส่งร.พ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ เพื่อรักษาอาการ แพทย์ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ด.ช.เดชฤทธิ์ เกิดทอง น้องชายนายเด่นซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ

เล่านาทีระทึกว่า ก่อนหน้านี้ตนกับพี่ชายรวมทั้งเพื่อนพี่ชายรวม 5 คน มานั่งตกปลากันที่สันเขื่อน ตกไปได้สักครู่ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก พวกตนจึงเตรียมตัวกลับบ้าน ซึ่งในขณะที่พี่ชายกำลังเก็บเบ็ดตกปลาและกางร่มอยู่นั้น ได้มีโทรศัพท์โทร.เข้ามือถือ พี่ชายจึงรับสายแล้วพูดคุยกลางสายฝน ทันใดนั้นเองเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงมาที่พี่ชายอย่างจัง จนร่างกระเด็นหัวฟาดโขดหินจนแตกเลือดอาบ ไฟลุกไหม้เสื้อกางเกงเดี๋ยวนั้น พวกตนตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ช่วยกันถอดเสื้อผ้าให้พี่ชายแต่ก็ถอดไม่ออกเพราะตัวใหญ่ ทั่วตัวพี่ชายมีแต่รอยไหม้และบาดแผลพุพองไปหมด


ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือกลางฝนแล้วถูกฟ้าผ่า

ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเกิดขึ้นทุกครั้งไป ผศ.ทับทิม อ่างแก้ว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความเห็นว่า ปกติแล้วการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะอยู่ในที่แจ้งและเกิดฝนตก ก็มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าลงมาได้ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก หากใช้มือถือและอยู่ในบริเวณที่มีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟ้าผ่าลงมาในจุดนั้นๆ ได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้โทรศัพท์ขณะฝนตกจะต้องโดนฟ้าผ่าทุกรายไป แต่ละครั้งจะต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น อยู่ในที่โล่งแจ้ง ใกล้ต้นไม้สูง บริเวณนั้นมีประจุไฟฟ้าที่สะสมอยู่ในก้อนเมฆจำนวนมาก

"ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันชัดเจนว่าโทรศัพท์มือถือเป็นตัวนำไฟฟ้า หรือเป็นต้นเหตุให้เกิดฟ้าผ่าในบริเวณนั้นๆ แต่โดยปกติแล้วในระหว่างที่ฝนตกก็ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว เพราะนอกจากโทรศัพท์จะเสียแล้ว อาจทำให้แบตเตอรี่ชอร์ตได้ ซึ่งมีอันตรายแก่ผู้ใช้มากกว่าโดนฟ้าผ่าเสียอีก" ผศ.ทับทิม กล่าว

ทางที่ดีอย่าเสี่ยงเลยดีกว่า!


แหล่งที่มา:
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์