นายสันติกล่าวว่า
จากการประชุมประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัด รวบรวมข้อมูลว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาการเลิกจ้างมากน้อยเพียงใด คาดจะได้ข้อมูลสมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ส.อ.ท.จะนำปัญหาการเลิกจ้างเข้าไปหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยปี 2552 จะมีนักศึกษาจบใหม่อีกหลายแสนคนที่จะหางานได้ลำบากกว่าปีนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยปีนี้มาชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ คาดว่าปี 2552 เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวทั้งปี
ด้าน ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า
แม้เศรษฐกิจปี 2552 จะเติบโตที่ระดับ 3-4% แต่จะไม่ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มเป็น 1 ล้านคนหรือมากกว่านั้น แต่คาดว่าจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีผู้ว่างงาน 3-4 แสนคน ปีหน้าคงไม่เกิน 5-6 แสนคน คาดว่าอัตราการว่างงานปี 2552 อยู่ที่ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3-1.5%
“ในแต่ละปีมีคนเข้าสู่วัยแรงงาน 2.5-3 แสนคน มีผู้ที่เกษียณอายุปีละ 1-1.2 แสนคน จากสถิติช่วงปี 2542-2543 ที่จีดีพีขยายตัวที่ต่ำกว่า 2-3% ไทยกลับมีอัตราว่างงานที่ 3.6% อัตราการว่างงานที่ระดับ 3.6% ตามหลักวิชาการเรียกว่าการว่างงานตามธรรมชาติ" ดร.อำพนกล่าว
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งทั่วประเทศรับมือปัญหาลูกจ้างถูกเลิกจ้าง โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหาการเลิกจ้างว่า
ยังสามารถรับมือได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ของบประมาณกลางจากรัฐบาลในวงเงิน 1,536 ล้านบาท นำมาสมทบในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจำนวน 270 ล้านบาท ช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับค่าชดเชยในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 60 วัน นอกจากนี้ งบประมาณส่วนหนึ่งก็นำมาใช้ในโครงการจัดจ้างบัณฑิตอาสา และให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับทราบปัญหาในพื้นที่ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในเชิงรุก
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า
ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการ จ.พระนครศรีอยุธยา สำรวจสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง รวมถึงจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ระยอง ลำปาง ลำพูน สุราษฎร์ธานี เพื่อป้องกันปัญหาเลิกจ้างอย่างเข้มข้น
ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างขณะนี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 8 แห่ง เป็น 133 แห่ง ลูกจ้าง 15,056 คน โดยมีแนวโน้มจะเลิกจ้างอีก 55 แห่ง ลูกจ้าง 24,906 คน และมีสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 7 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 2,922 คน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ตามลำดับ
วันเดียวกัน คณะกรรมการบริหารองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
สภาองค์การลูกจ้าง 7 แห่ง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนางอุไรวรรณ เพื่อขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนกลางไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนเพื่อป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือภาคแรงงาน เนื่องจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ ทั้งนี้ นางอุไรวรรณรับปากว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 11 พฤศจิกายน