วัดดังเมืองสุพรรณ จัดพิธีพิสดารทำบุญสะเดาะเคราะห์ทำแท้ง วัดดังเมืองสุพรรณจัดอีกเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.นี้
เผยมีคนเข้าร่วมทั้งวัยรุ่นและสาวใหญ่ ด้านสมภารแจงเหตุผลต้องการทำบุญให้กุมารทองของดีคู่วัด และต้องการอุทิศส่วนกุศลให้เด็กๆ ที่คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตจากการทำแท้ง ยืน ยันไม่ใช่พิธีแก้กรรม เพราะการฆ่าชีวิตเป็นกรรมหนักตามหลักพุทธศาสนา แต่ต้องการผ่อนหนักให้เป็นเบาสร้างความสบายใจเท่านั้น
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่วัดแค ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี หลังมีข่าวว่าวัดจัดพิธีสะเดาะเคราะห์
ขอขมา และขออโหสิกรรมดวงวิญญาณเด็ก ที่เสียชีวิตจากการถูกทำแท้งหรืออุบัติเหตุต่างๆ จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณประตูหน้าทางเข้าวัดติดตั้งแผ่นป้ายขนาดใหญ่ นำรูปภาพใบหน้าเด็กทารกที่มีลักษณะน่ากลัว และมีเลือดไหลออกมาจากดวงตา เขียนข้อความว่า "พิธีขอขมา ขออโหสิกรรม วิญญาณเด็ก ถูกทำแท้ง"
นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่รอบวัด ยังติดตั้งป้ายกำหนดการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ระบุว่า การบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน
ประกอบพิธีกรรมขอขมา ขออโหสิกรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณเด็กที่คลอดก่อนกำหนด(แท้ง)ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. โดยมีกำหนดการวันที่ 27 พ.ย.และ 28 พ.ย.มีพิธีสวดพระอภิธรรมและอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณเด็กที่เสียชีวิต วันที่ 29 พ.ย.ประกอบพิธีบวงสรวง และขอขมา ขออโหสิกรรมดวงวิญญาณ จากนั้นพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ แล้วทำพิธีบังสุกุลและประชุมเพลิงรายชื่อของเด็กที่เสียชีวิตจากการแท้งหรืออุบัติเหตุต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการร่วมพิธีต้องเขียนชื่อและนามสกุล ของตน รวมทั้งต้องเขียนชื่อของลูกชายและลูกหญิงที่เสียชีวิตใส่ในกระดาษเพื่อใช้ประชุมเพลิงด้วย
พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร (สมศักดิ์ กตวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดแค ให้สัมภาษณ์ถึงการทำพิธีดังกล่าวว่า พิธีกรรมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ เป็นการจัดครั้งที่ 2 โดยพิธีกรรมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากยังมีญาติโยมที่มีจิตศรัทธาและต้องการทำพิธีอุทิศส่วนกุศลขอขมา ขออโหสิกรรมดวงวิญญาณลูกชายและลูกหญิง ที่เสียชีวิตจากการแท้ง หรืออุบัติเหตุ ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการประกอบพิธีกรรมครั้งที่ 1 ได้ฝันเห็นเด็กทารกมาดึงจีวรขณะเดินอยู่ในวัด จึงตัดสินใจจัดงานและประกอบพิธีกรรมดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ประกอบมีประชา ชนที่มีจิตศรัทธามาร่วมงานจำนวนมากทางวัดจึงต้องจัดพิธีกรรมขอขมา ขออโหสิกรรมขึ้นอีกครั้ง
พิธีพิสดารขอขมาเด็กแท้ง-วัดกุมารทอง
พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตรกล่าวต่อว่า จุดเริ่มต้นของการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว เกิดจากทางวัดต้อง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กุมารทองคำ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่วัดมาแต่โบราณกาล แต่ขณะนั้นทางวัดกำลังเข้าสู่การปรับปรุงและบูรณะ จึงต้องเลื่อนการทำบุญออกไป ต่อมาอาจารย์ลักษณ์ เรขานิเทศ หมอดูชื่อดัง ซึ่งเป็นอุบาสกผู้อุปถัมภ์วัดแค ที่คอยเข้ามาช่วยเหลืองานทางวัดตลอด ได้ขอมาประกอบพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณเด็กที่เสียชีวิตจากการแท้ง เพื่อเป็นกำลังของกุมารทองคำ รวมทั้งยังต้องการที่จะหล่อเทวรูปกุมารทองคำขึ้นมาใหม่ ทางวัดจึงตัดสินใจจัดงานทำบุญขอขมา ขออโหสิกรรมดวงวิญญาณ และงานพิธีเชิญดวงวิญญาณเด็กขึ้นมาพร้อมๆกัน
"การทำแท้งที่เกิดขึ้นด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถือเป็นกรรมที่หนักตามพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการฆ่าชีวิตคนไปหนึ่งชีวิต รวมทั้งการทำแท้งยังเป็นการสร้างแผลใจที่มิอาจลบล้างให้เลือนหายไปจากจิตใจได้ การประกอบพิธีกรรมดังกล่าว จึงเป็นการทำให้บุคคลที่เข้ามาพึ่งทางธรรม รู้สึกสบายใจและผ่อนจากหนักให้เป็นเบาเท่านั้น แต่มิอาจล้างบาปกรรมที่ก่อขึ้นมาได้"เจ้าอาวาสวัดแคกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดพิธีกรรมดังกล่าวอาจถูกมองว่า เป็นการส่งเสริมให้วัยรุ่นทำแท้งและสามารถ เข้ามาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ลูกที่ทำแท้ง เพื่อเป็น การลบล้างบาปกรรม
พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร กล่าวต่อว่า การจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นมีเจตนาเพื่อต้องการให้ผู้ที่เข้ามาทำบุญรู้สึกสบายใจเท่านั้น ซึ่งบาปกรรมที่เกิดจากฆ่าชีวิตผู้เป็นลูกหรือผู้อื่น ไม่สามารถลบ ล้างได้ ด้านพระสุชิน สุขกาโม พระลูกวัด กล่าวว่า ขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมจะเริ่มด้วยให้ญาติโยมเขียนชื่อตนเองและลูกชายลูกหญิงที่เสียชีวิตลงในกระดาษที่ทางวัดเตรียมไว้ จากนั้นจะนำกระดาษดังกล่าวมาประกอบพิธีบังสุกุลและนำไปใส่ในโลงศพขนาดเล็กที่ทางวัดจัดไว้ เพื่อรอนำรายชื่อทั้งหมดมาประ กอบพิธีประชุมเพลิง นอกจากนี้ยังมีการถวายพานพุ่มที่บรรจุเครื่องใช้สำหรับเด็กที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายชุดละ 99 บาท ซึ่งเงินที่ได้ทางวัดจะนำไปทำนุบำรุงและบูรณะวัด ส่วนเครื่องใช้สำหรับเด็กทางวัดจะนำไปบริจาคให้โรงพยาบาลในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้เด็กทารกที่พ่อแม่ขาดแคลนนำไปใช้เลี้ยงดูบุตร
นางสุมาลี สมบัติเจริญ อายุ 52 ปี อาชีพแม่บ้าน กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางเข้ามาประกอบพิธีกรรม ในวันจันทร์-วันศุกร์จะมีวันละประมาณ 30 คน
ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์จะมีประมาณ 100 คน ทั้งนี้ประชาชนบางคนยอมขับรถยนต์ส่วนตัวและเช่ารถ ตู้มาจากต่างจังหวัด เพื่อต้องการเดินทางมาทำบุญสะเดาะเคราะห์ที่วัด ซึ่งประชาชนที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาววัยกลางคนที่แท้งลูกเองตามธรรมชาติและคลอดก่อนกำหนด ส่วนหญิงสาวที่เจตนาทำแท้งก็มีเดินทางมาทำบุญบ้าง
สำหรับสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมขอขมา ขอโหสิกรรม ดวงวิญญาณเด็กที่เสียชีวิตจากการแท้งและอุบัติเหตุ อยู่ที่บริเวณใต้กุฏิของเจ้าอาวาส ทางวัดมีการกั้นพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน
โดยมีการนำโลงศพ สีขาว มีลายฉลุสีทองขนาดเล็กมาตั้งไว้บนปะรำพิธีที่จัดเตรียมไว้ โลงศพดังกล่าวจะใช้สำหรับใส่กระดาษที่ ประชาชนได้มาเขียนชื่อและนามสกุลของบุตรที่เสียชีวิต นอกจากนี้ที่บริเวณโลงศพยังมีการโยงสายสิญจน์ลงมา เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีบังสุกุล ส่วนบริเวณรอบพื้นที่ประกอบพิธีกรรมมีการจัดวางเครื่องใช้และของเล่นเด็กจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในแต่ละวันมีหญิงสาววัยรุ่นจำนวนหลายราย พากันนำเครื่องใช้ต่างๆเกี่ยวกับเด็ก มาร่วมทำบุญในพิธีกรรมดังกล่าวด้วย