นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดทั่วประเทศ 10,000 แห่ง
ประสบความเดือดร้อนและในปีหน้าอาจเลิกจ้างคนงาน 300,000 คน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศลำบากมากขึ้น รวมถึงการขาดสภาพคล่องกรณีสถาบันการเงินเข้มงวดการให้สินเชื่อ จนเสี่ยงต่อการปิดโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่ผลิตอาหารในลักษณะฟุ่มเฟือยมีราคาสูง ขณะที่รายใหญ่ยังมีเครดิตพอที่นำเงินมาหมุนเวียนเพื่อประคองกิจการ ดังนั้น ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือสภาพคล่องด่วน
“ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.อุตสาหกรรมได้มอบนโยบายให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมโดยการลดต้นทุนการผลิตเพื่อป้องกันการลดคนงาน เบื้องต้นสถาบันฯจะหารือกับบริษัทให้เข้าสู่โครงการลดต้นทุน และมุ่งเรื่องกระบวนการผลิตต่อไป ซึ่งเพื่อให้โรงงานผลิตอาหารทั้งหมด 10,000 แห่ง จ้างงาน 1 ล้านคนให้อยู่รอดต่อไป จำนวนนี้ไม่รวมถึงธุรกิจร้านอาหารเพราะไม่มีข้อมูลเนื่องจากมีปริมาณมากและเปิดหรือปิดบ่อยด้วย”
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันเตรียมเสนอของบประมาณปีหน้า ที่รัฐบาลนำมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท
โดยสถาบันฯมีความต้องการเงินสนับสนุน 500 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปทำตลาดส่งออกและสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นถึงมาตรฐานการผลิตที่ปลอดสารเมลามีน ซึ่งหากได้รับอนุมัติเชื่อว่าเป้าหมายส่งออกสินค้าประเภทอาหารที่เคยตั้งไว้ในปีหน้า มูลค่า 850,000 ล้านบาท จะเป็นไปตามเป้า ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกหลายอย่างที่ยังช่วยภาคส่งออก เช่น ค่าเงินบาทอาจจะอยู่ที่ 34-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงต้นทุนของวัตถุดิบของอาหาร และภาคขนส่งต่ำลงด้วย ในส่วนปัญหาเมลามีนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมที่ไทยส่งออกปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่มูลค่าผลกระทบทุกชนิดยังไม่สามารถประเมินได้.