เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
กรมชลประทาน จึงได้บริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหกเพิ่มสูงขึ้น เอ่อล้นตลิ่งในบางพื้นที่ และในวันที่ 14-15 พ.ย. นี้ เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหก ตลอดจนชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำในเขตกรุงเทพฯ ปภ. จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมความพร้อมในการรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง และติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ และข้อมูลสถานการณ์การขึ้น-ลงของน้ำ
ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถนนวิภาวดีฯ ได้มีชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจาก จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นนทบุรี และปทุมธานีราว 150 คน เหมารับบัส 2 คัน
โดยมีนายสุชิน เจริญจิตร์ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นแกนนำมาขอบคุณเดลินิวส์ที่เสนอข่าวความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อม กับชูป้ายประท้วงให้ปลดอธิบดีกรมโรงงาน หลังเตรียมจะออกกฎให้โรงงานสามารถปล่อยน้ำลงแม่น้ำ เจ้าพระยา เพราะทำให้แม่น้ำเน่าเสีย
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำยังคงท่วมขังใน 9 อำเภอ
ที่วัดโรงนาราชศรัทธาธรรม หมู่ 8 ต.น้ำเต้า อ.บางบาล พระภิกษุสงฆ์กว่า 10 รูป พร้อมชาวบ้านทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ ที่ถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยไหลเข้าท่วมพร้อมเร่งมือซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในครั้งต่อไปและเตรียมเรือในการออกบิณฑบาตและจัดเตรียมกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำเข้าอุโบสถด้วย
ขณะที่บึงน้ำขนาดใหญ่ ใกล้วัดท่าโขลง หมู่ 5 ต.วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา
ชาวบ้านได้นำข่ายขนาดใหญ่ลงดักจับปลาบึก ที่หลุดเข้ามาจาก แม่น้ำลพบุรี มีความยาว 2 เมตร น้ำหนักกว่า 150 กก. ต้องใช้คนช่วยกันอุ้มขึ้นมาถึง 5 คน นายรักษ์ พัฒนะจันทร์ อายุ 35 ปี กล่าวว่า อยากจะขายให้กับร้านอาหารที่มีบ่อปลาเพื่อเอาไว้โชว์ไม่อยากให้นำ เอาไปทำเป็นอาหาร.