วันนี้ (5 พ.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2551ต่อเนื่องถึงปี 2552
ความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจนอกประเทศสูงขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐส่งผลรุนแรงกลาย เป็นวิกฤติการเงินในระดับโลก สร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งจะเริ่มเห็นการชะลอตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2551 และผลกระทบต่อเนื่องชัดยิ่งขึ้นในปี 2552
นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนจะยิ่งฉุดโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัจจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวของต่างชาติก็มีแนวโน้มลดลงจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคประเทศต่างๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยที่คาดว่าอาจจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ คือการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
ซึ่งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงได้มาก และยังมีแนวทางของการจัดทำงบกลางปีสำหรับปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ และอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจะเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 อาจขยายตัวต่ำกว่า 4.0% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ระหว่าง 4.7-5.0%
และคาดว่าอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจะยังคงต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 จะมีอัตราขยายตัวประมาณ 4.3% ชะลอลงอย่างมากจาก 5.3% ในไตรมาสที่ 2/2551 สาเหตุสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกและการหดตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ