ทักษิณขอพระราชทานอภัยโทษ?


ผลพวงจากรายการความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 2 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โฟนอินข้ามประเทศ โดยเฉพาะประโยคไฮไลต์

"ใครก็เอาผมกลับบ้านไม่ได้ นอกจากพระบารมีที่ทรงพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น"

ส่งผลให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ จับเอาคำพูดดังกล่าวไปวิเคราะห์ตีความต่างๆ นานา  

โดยเฉพาะบางคนเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมที่ขอพระราชทานอภัยโทษจากคดีความต่างๆ

จะเป็นไปได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นไว้ดังนี้



เดชอุดม ไกรฤทธิ์

นายกสภาทนายความ

การโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งกรณีที่มีกระแสข่าวสมาชิกพรรคพลังประชาชนเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้นั้น

การขอพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่หน้าที่ของส.ส. เพราะจริยธรรมของส.ส.กำหนดว่าห้ามไม่ให้คบกับผู้ที่กระทำความผิด

โดยทางสภาทนายความเตรียมตรวจสอบเรื่องความเหมาะสมในการโฟนอิน และดูหมิ่นกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากศาลเป็นผู้เสียหาย

ทั้งนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นสิทธิ์ของนักโทษทุกคน ไม่ว่าโทษประหารชีวิตหรืออื่นๆ ซึ่งจะต้องรับโทษแล้ว แต่คดีของพ.ต.ท.ทักษิณในคดีที่ดินรัชดาภิเษก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีนั้น ยังไม่จบ ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ระหว่างพิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งมีเวลาจนถึงวันที่ 20 พ.ย.

ดังนั้น เรื่องดังกล่าวดูเหมือนเป็นการขว้างหินถามทาง โดยหลักการแล้วคดีต้องถึงที่สุด หรือมีโทษแล้วถึงจะขออภัยโทษได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นการไม่บังควร เพราะจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาทในขณะนี้เพราะเป็นช่วงที่มีงานพระราชพิธี

ส่วนกรณีจะต้องกลับมารับโทษก่อนหรือไม่ถึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้นั้น มีขั้นตอนคือนักโทษในเรือนจำจะต้องยื่นผ่านกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักราชเลขาธิการ แต่เป็นการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวนักโทษ

การที่พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าโดนยัดเยียดคุก โดยใช้คำพูดว่า "ผมไม่ใช่หัวหน้าม็อบนะครับ ถึงจะโดนยัดเยียดคุกให้กับอดีตนายกฯ" ผมอยากถามว่าคำว่ายัดเยียดคุกหมายความว่าอย่างไร

ท่านไม่ยอมรับคำพิพากษา แล้วท่านจะมาขอพระราชทานอภัยโทษทำไม


วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง อีกทั้งขณะนี้มีผู้รู้ นักวิชาการ ออกมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้กันอยู่แล้ว โดยส่วนตัวอยากขอชี้แจงในประเด็นที่คาบเกี่ยวหรือเป็นประเด็นความรู้ด้านกฎหมายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้รับฟังการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ พูดเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นการพูดและตีความกันไปเท่านั้น

ดังนั้น จึงยังคิดว่าคงไม่เหมาะสมถ้าจะให้ความเห็นในช่วงนี้ หากเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษจริงก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน

คิดว่าขณะนี้ยังไม่รู้ชัดเจนว่าการโฟนอินของอดีตนายกฯ เพื่อต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือมีนัยยะอย่างไร

ควรให้มีความชัดเจนก่อนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะขอพระราชทานอภัยโทษจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการแสดงความเห็นไปก่อนล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่มีอะไร


สุจิต บุญบงการ

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จริงๆแล้ว อยากให้เรื่องการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้เงียบหายไปจากสังคม เนื่องจากอดีตนายกฯ พูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาต่อความยาวสาวความยืด

แต่หากชัดเจนแล้วว่าพ.ต.ท.ทักษิณต้องการพูดเพื่อเปิดทางนำไปสู่การขอพระราชทานอภัยโทษจริง บอกได้เลยว่าไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการโฟนอินดังกล่าวจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมรุนแรงมากขึ้น

เพราะแสดงให้เห็นว่าอดีตนายกฯ ไม่ยอมถอยและยังกล่าวหากระบวนการยุติธรรมของไทย

ขณะที่การตัดสินของศาลฎีกาในคดีต่างๆ ทั่วไป เมื่อศาลตัดสินแล้วเรื่องจะจบไป แต่อดีตนายกฯ กลับไม่ยอมเงียบ และยังมาพูดพาดพิงว่ากระบวนการมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของชาติบ้านเมือง

ยิ่งส่งผลให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น


สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ส.ว.สรรหา ภาควิชาการ

การที่พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่าไม่มีใครที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอก นอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชนทุกท่าน

มีความกำกวมในการตีความถึงความหมาย และอดคิดไม่ได้ว่าเป็นการขออภัยโทษหรือไม่

หากพูดถึงการขออภัยโทษในทางกฎหมาย แม้จะไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะอยู่ในประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา ที่มีหลักการอยู่ว่าคดีถึงที่สุดแล้วหรือยัง

กรณีนี้ต้องถามกลับไปว่าพ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้ต้องคำพิพากษา ใช้สิทธิ์ต่อการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินจำคุก 2 ปีแล้วหรือยัง โดยมีกำหนด 30 วันนับแต่ศาลตัดสิน

แต่ที่ผ่านมาพ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ในทางตรงกันข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ กลับโต้แย้งคำตัดสินของศาลอยู่ตลอด

แสดงว่าพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาล การขออภัยโทษทั้งที่ไม่ยอมรับในการตัดสินของศาลจึงเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

หากพ.ต.ท.ทักษิณยอมรับคำตัดสินของศาลแล้วยื่นอุทธรณ์ การขออภัยโทษจึงสามารถทำได้ โดยขอด้วยตนเองผ่านไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันสำคัญๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.เป็นต้น

ส่วนกรณีจะให้มีการเข้าชื่อทั้งประชาชนและส.ส.เพื่อยื่นฎีกานั้น สามารถทำได้ เพราะไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แต่เหมาะสมหรือไม่

เพราะที่ผ่านมาพ.ต.ท.ทักษิณโต้แย้งกระบวนการยุติธรรมอยู่ตลอด ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องใช้ดุลยพินิจให้ดี เพราะการขออภัยโทษ ผู้กระทำผิดต้องรู้สึกสำนึก และมีประวัติทำคุณงามความดีให้กับประเทศ

อยากถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณมีคำกล่าวข้างต้นครบหรือยัง โดยเฉพาะการสำนึกว่ากระทำผิด

เรื่องนี้ไม่ควรนำสถาบันมาเกี่ยวข้อง เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรมและการตัดสินคดี การดึงสถาบันจึงเป็นเรื่องมิบังควร

ขอให้พ.ต.ทักษิณ ดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ให้โอกาสแล้วคือการยื่นอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เขียนและเปิดช่องไว้ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่มี


สัก กอแสงเรือง

อดีตโฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

การถวายฎีกาทั่วๆ ไปก็คงถวายฎีกาได้ แต่ถ้าถวายฎีกาในฐานะที่เป็นจำเลยในคดีอาญา จะต้องเป็นคดีถึงที่สุดก่อน และคิดว่าไม่น่ารวมถึงผู้ที่หลบหนีคดี หรือไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม

สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่าท่านไม่ได้ทำผิด ต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ก่อ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะจำเลยในเรือนจำมักจะพูดเช่นนี้

ตามช่องทางกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณสามารถต่อสู้คดีได้แต่กลับไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ตอนที่เข้ารับตำแหน่งปฏิญาณตนไว้อย่างไรถือเป็นจิตสำนึก และเป็นสิ่งที่ประชาชนจะตัดสินใจ

ส่วนเนื้อหาการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ผมเห็นว่าไม่น่าจะสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม แต่คนที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รมว.ต่างประเทศและรมว.ยุติธรรม ต้องอธิบายให้ประชาชนและทูตต่างประเทศ รวมทั้งสื่อต่างประเทศให้เข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีความน่าเชื่อถือได้ เพราะถ้าไม่ทำ ทั้งประชาชนและต่างชาติจะเกิดความสับสนเข้าใจผิดว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ถ้าอำนาจตุลาการที่อยู่ในกระทรวงยุติธรรมถูกทำลายลง ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นไม่ได้

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์