นายพงษ์ภานุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า
จะมีธนาคารทั้งหมด 4 แห่ง เข้าร่วมโครงการนี้คือ ธนาคารออมสิน จะปล่อยกู้ 40,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 40,000 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย 15,000 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย 15,000 ล้านบาท รวมเป็น 110,000 ล้านบาท โดย สบน.จะออกตั๋วเงินสัญญาใช้เงินหรือพีเอ็น อายุ 1 ปี โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ออกมีอัตราต่ำที่สุดเพื่อลดภาระของงบประมาณ
“โครงการนี้กระทรวงการคลังจะค้ำประกันพีเอ็น 100% เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดเนื่องจากการค้ำประกันดังกล่าวเท่ากับรัฐบาลได้รับภาระหนี้ก้อนนี้เข้ามาเป็นหนี้สาธารณะทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เงินจำนวน 110,000 ล้านบาท เป็นภาระจนส่งผลกระทบต่อทุนของธนาคารเฉพาะกิจมากเกินไป”
นายพงษ์ภานุกล่าวว่า
ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่หารือกันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนแต่ สบน.ก็พยายามเจรจาต่อรองให้ต่ำที่สุดเพราะธนาคารทั้ง 4 แห่งเห็นตรงกันว่าจะปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลบ 2% ซึ่งปัจจุบันเอ็มแอลอาร์เฉลี่ยของธนาคารทั้ง 4 แห่งอยู่ที่ 7.25% ลบออกไป 2% อยู่ที่ประมาณ 5.25% แต่เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรจึงไม่ใช่หน้าที่ของ ธ.ก.ส.และธ.ก.ส.จะบวกค่าบริหารและค่าจัดการเพิ่มอีก 3% ทำให้กระทรวงการคลังอาจจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ย 8-9% ต่อปี แต่ก็จะพยายามต่อรองอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุด
ส่วนการลงบันทึกบัญชีโครงการดังกล่าวในครั้งนี้จะทำในลักษณะที่พิเศษกว่าทุกปี กล่าวคือ
จะแยกบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรออกจากบัญชีของ ธ.ก.ส.ทั้งในเรื่องของเงินทุนอัตราดอกเบี้ยและการตั้งสำรองหนี้เพื่อจัดชั้นหนี้สงสัยจะสูญเพื่อไม่ให้ภาระดังกล่าวส่งผลกระทบกับกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือบีไอเอส จนทำให้ ธ.ก.ส.ต้องเพิ่มทุนโดยจะเสนอให้โครงการนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือพีแอสเอตามนโยบายของกระทรวง การคลัง
แต่วิธีการนี้จะทำให้ยอดหนี้สาธารณะที่ สบน.เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทจากปัจจุบัน 3.4 ล้านล้านบาท เป็นประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท โดยงบปี 52 รัฐบาลมีกรอบวงเงินในการบริหารประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้เป็นการกู้แล้ว 100,000 ล้านบาท จะต้องมีการรายงานให้รัฐสภารับทราบเพื่อให้เกิดการโปร่งใสต่อแผนการกู้เงินที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกร
ด้านนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการในฐานะรักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า
ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินจากการรับจำนำทั้งแบบใบประทวนจากองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่จำนำผ่านโรงสีต่างๆ โดยจะคิดค่าบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ย 3% แต่ถ้าบริหารจัดการผ่านการรับจำนำยุ้งฉางจะคิดอัตราดอกเบี้ย 4% โดยการรับจำนำดังกล่าวจะไม่สร้างภาระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.เหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นมติ ครม.สั่งให้แยกบัญชีชัดเจน ทำให้ ธ.ก.ส.ไม่ต้องมีภาระในการเพิ่มทุน โดยแนวทางดังกล่าวจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า
“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ต้องรับภาระเรื่องสภาพคล่องเพราะเป็นการนำสภาพคล่องของธนาคารไปปล่อยกู้อีกทอดหนึ่ง แต่ครั้งนี้กระทรวงการคลังเข้ามารับภาระหนี้ทำให้ ธ.ก.ส.และธนาคารที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องรับภาระเรื่องความเสียหายจากการรับจำนำเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร”.