รัฐ “battleground states” ที่ต้องลุ้นเป็นพิเศษมี 12 รัฐ ดังนี้
- โคโลราโด-มีคณะผู้เลือกตั้ง 9 คน ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2547 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งพรรครีพับลิกัน ชนะนายจอห์น แคร์รี ตัวแทนพรรคเดโมแครต 52-47% แต่หลังจากนั้นเดโมแครต สามารถยึดเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐและสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐได้ และโพลล่าสุด โอบามามีคะแนนนิยมนำแมคเคนห่างถึง 8 จุด
‘- ฟลอริดา-มีคณะผู้เลือกตั้ง 27 คน เมื่อปี 2547 บุชก็ชนะแคร์รี 52-47% แต่โพลล่าสุดระบุโอบามานำแมคเคนอยู่ 2-4 จุด รัฐนี้เป็นรัฐ เจ้าปัญหา มีการนับคะแนนใหม่ และเป็นตัวชี้ขาดให้บุชชนะนายอัล กอร์ จนได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2543 มาแล้ว ฟลอริดายังเป็นรัฐที่มีการแข่งขันสูสีน่าจับตามองที่สุด เพราะกลุ่มผู้สูงอายุ ชมชอบแมคเคน ส่วนกลุ่มชาวยิวที่ปกติเท คะแนนให้ตัวแทนพรรคเดโมแครตกลับหวาดระแวงโอบามา
‘- อินเดียนา-มีคณะผู้เลือกตั้ง 11 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีขาดถึง 20 จุด เพราะรัฐนี้ไม่เคยโหวตให้เดโมแครตเลยตั้งแต่ พ.ศ.2507 แต่รัฐนี้อยู่ติดกับรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งโอบามาเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ อีกทั้งโอบามาทุ่มหาเสียงใน รัฐนี้อย่างสุดตัวหลัง แพ้การเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีให้นางฮิลลารี คลินตันเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้โพลล่าสุด โอบามานำแมคเคนอยู่ 1 จุด แต่ถือว่าสูสีมากจนดูไม่ออก
- มิสซูรี-มีคณะผู้เลือกตั้ง 11 คน เมื่อปี 2547 บุชก็ชนะแคร์รี 53-46% รัฐนี้มีส่วนผสมระหว่างชุมชนเมืองซึ่งชอบเดโมแครตมากกว่า และชุมชนในชนบทซึ่งเป็นอนุรักษนิยมชมชอบรีพับลิกัน โพล ล่าสุด แมคเคนนำอยู่แค่ 2 จุด แต่โพลก่อนหน้านี้ระบุเสมอกัน จึงเป็นรัฐที่ดูยากอีกรัฐหนึ่ง
- นิวแฮมป์เชียร์-มีคณะผู้เลือกตั้ง 4 คน เมื่อปี 2547 แคร์รีชนะบุชแค่ฉิวเฉียด 1 จุด แต่ในการเลือกตั้ง ขั้นต้นแบบไพรมารีทั้งเมื่อต้นปีนี้และย้อนไปในปี 2543 แมคเคนชนะถล่มทลาย จึงหวังไว้สูงว่าจะชนะในครั้งนี้ ส่วนเดโมแครตก็หวังเช่นกัน เพราะสามารถครอง เก้าอี้ผู้ว่าการรัฐและสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐได้ตั้งแต่ปี 2549 แต่โพลล่าสุดโอบามานำห่าง บางโพลนำห่างถึง 25 จุด
- นิวเม็กซิโก-มีคณะผู้เลือกตั้ง 5 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีแค่ 6,000 เสียง รัฐนี้อยู่ติดกับรัฐอริโซนา ซึ่งแมคเคนเป็นวุฒิสมาชิก จึงคุ้นเคยกับชาวเมืองมากกว่า แต่ช่วงหลังกลุ่มผู้ใช้ภาษาสเปน ซึ่งชอบโอบามามากกว่าขยายตัวขึ้นจนมีสัดส่วนกว่า 40% โอบามาก็เลยหวังไว้สูงเช่นกัน โพลล่าสุดระบุโอบามานำอยู่ 5-8%
- เนวาดา-มีคณะผู้เลือกตั้ง 5 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีแค่ 20,000 เสียง ในศึกชิงทำเนียบขาว 10 ครั้งหลัง รีพับลิกันชนะในรัฐนี้ถึง 8 ครั้ง แต่พักหลังๆ กลุ่มผู้ใช้ภาษาสเปนขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน โอบามา ก็เลยหวังไม่น้อย โพลล่าสุดระบุโอบามานำ 7 จุด
- นอร์ทแคโรไลนา-มีคณะผู้เลือกตั้ง 15 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีขาดถึง 12 จุด แต่รัฐนี้มีคนผิวดำกว่า 20% และมีผู้อพยพเข้าไปอยู่ตามชุมชนเมืองมากขึ้น ทำให้โอบามามีลุ้นสูง โพลล่าสุดโอบามานำอยู่ 6 จุด แต่โพลก่อนหน้านี้ให้เสมอกัน
- โอไฮโอ-มีคณะผู้เลือกตั้ง 20 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีราว 120,000 เสียง รัฐนี้เป็นรัฐชี้ขาดผลการเลือกตั้งปี 2547 มาแล้ว และจากประวัติศาสตร์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน จะไม่สามารถพิชิตทำเนียบขาวได้เลยถ้าไม่ชนะในโอไฮโอ แมคเคนจึงต้องลุ้นรัฐนี้สุดชีวิต ส่วนโพลล่าสุดระบุโอบามานำอยู่ 3-4 จุด ลดลงจากโพลก่อนหน้านี้เล็กน้อย
- เพนซิลเวเนีย-มีคณะผู้เลือกตั้ง 21 คน ในปี 2547 แคร์รีชนะบุช 51-48% แต่ครั้งนี้รีพับลิกันหวังพลิกชนะ แต่ก็คงยาก เพราะโพลล่าสุด 3 ใน 4 โพลระบุโอบามานำห่างเป็นตัวเลข 2 หลัก
- เวอร์จิเนีย-มีคณะผู้เลือกตั้ง 13 คน ในปี 2547 บุชชนะแคร์รีสบายๆ ถึง 9 จุด เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา ตัวแทนพรรคเดโมแครตไม่เคยชนะในรัฐนี้เลย แต่พักหลังแนวโน้มนี้เปลี่ยนไป เห็นได้จากการเลือกตั้งภายในรัฐที่เดโมแครตชนะตลอด ส่วนโพลระบุโอบามานำอยู่ถึง 9 จุด
- วิสคอนซิน-มีคณะผู้เลือกตั้ง 10 คน ในปี 2547 แคร์รีชนะบุช แค่ 11,000 เสียง แต่โอบามามีคะแนนนิยมนำมาตลอดตั้งแต่ชนะนางฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โพลล่าสุดระบุโอบามานำถึง 9 จุด
จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็น “battleground states” แต่โอบามามาแรงแซงแทบทุกรัฐ ถ้าโพลไม่พลิก บัลลังก์ทำเนียบขาวของหนุ่มผิวสีคนนี้ก็อยู่แค่เอื้อม!!!