นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า
วิกฤติการเงินสหรัฐฯและวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลถึงภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศไทย โดยตัวเลขปริมาณการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ลดลงสอดคล้องกับภาคการผลิตของประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่การท่องเที่ยวเจอพิษการเมืองอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคการเกษตรยังอยู่ในระดับสูงแม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ก.ย. หดตัวต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. โดยไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% เศษและมีแนวโน้มว่าไตรมาส 4 จะชะลอตัวต่ำลงอีก
ธปท.จำนนเศรษฐกิจจ่อโคม่า ส่งออก-ลงทุนทรุด
ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.
ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 4.6% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.6% และเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ขณะที่การใช้กำลังการผลิตเดือนนี้อยู่ในระดับ 68.2% เท่านั้น ถือเป็นการลดลงต่ำกว่า 70% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกมีการขยายตัวลดลงกว่าครึ่ง โดยในเดือน ก.ย. ขยายตัว 8.8% จากที่ขยายตัว 16.4% ในปีก่อนหน้าสอดคล้องกับภาคการส่งออกที่เดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 15.5% แต่ถือว่าชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่จะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยคือการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาส 3 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 9.1% จาก 12.3% ในไตรมาสก่อนและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอีกในไตรมาสที่ 4 แสดงให้เห็นผลกระทบจากวิกฤติการเงินของโลกที่มีผลต่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงพอสมควร ในขณะที่การท่องเที่ยวของไทยในเดือน ก.ย. มีนักท่องเที่ยวเพียง 900,000 คน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 16.5% จากผลของการเมืองที่เกิดความรุนแรงและการปิดของรัฐวิสาหกิจและสนามบินโดยระดับการเข้าพักของนักท่องเที่ยวในเดือนนี้ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 10%”
นางอมรากล่าวต่อว่า
แม้รายได้ภาคการเกษตรที่สูงถึง 45.5% แม้จะลดลงจากเดือน ส.ค.ที่ขยายตัว 57.5% แต่ก็ช่วยให้กำลังซื้อรถจักรยานยนต์ยังสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% เทียบจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า
แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วง 3 เดือนต่อไปจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่โน้มต่ำลงต่อเนื่อง
ขณะที่การนำเข้าในเดือน ก.ย. ขยายตัวเพิ่มขึ้น 38.6% เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกักตุนเหล็กและสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ดุลบริการขาดดุล 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐนั้น
โดยสรุปงบปี 51 มีการเบิกจ่ายได้น้อยลงกว่าที่คาดโดยเบิกจ่ายได้ 92.3% จาก 94% และมีดุลเงินสดขาดดุลเพียง 24,000 ล้านบาท มีเงินคงคลังรายปีสุทธิเพิ่มขึ้น 87,100 ล้านบาท ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐน้อยกว่าที่ประมาณการไว้มาก และในปีงบ 52 แม้รัฐจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท แต่ก็ขึ้นกับอัตราการเบิกจ่ายจริงด้วย ส่วนนโยบายการเงินนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงินระบุชัดเจนว่าดอกเบี้ยขาขึ้นไม่มีแล้ว นโยบายการเงินในช่วงต่อไปคงผ่อนคลายมากขึ้นและพร้อมจะลดดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจทรุดกว่าที่คาดไว้
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวปลดคนงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มว่า
ยังไม่มีการปลดแรงงานในช่วงนี้ เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยยังเติบโตได้ดี โดยในปี 51 การส่งออกยังขยายตัว 7-8% มูลค่า 7,800 ล้านบาท และปี 52 คาดจะเติบโตได้อีก 2-3% หรือมูลค่าเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท “ยืนยันว่าการปลดคนงานยังไม่เกิดขึ้นและคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆเพราะในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องอาศัยฝีมือและใช้เวลาในการฝึกฝน แม้ขณะนี้ 80% ของผู้ผลิต 15,000 ราย จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี แต่สมาคมได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเชื่อมโยงจัดหาแหล่งวัตถุดิบราคาต่ำเพื่อลดต้นทุนให้ จึงมั่นใจปัญหาการว่างงานของไทยไม่รุนแรงอย่างที่คิด ปัจจุบันมีอัตราว่าง งานต่ำเพียง 1.7%”.