ชีวิตวัยรุ่น หรือนักเรียนนักศึกษา ในปัจจุบัน ต่างก็ปรับตัวไปตามสภาวะทางสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ทุกวันนี้อาจมีเด็กกลุ่มหนึ่งเป็นเด็กติดเกม ติดออนไลน์ แต่ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องทำงาน หารายได้พิเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือค่าใช้จ่ายในการศึกษา
นอกเหนือจากทำงานในบริษัท ห้างร้านแลกเงินเดือนแล้ว ก็ยังมีนักเรียนนักศึกษาบางคนผันตัวเองมาเป็น "เถ้าแก่น้อย" ทำการค้าเล็กน้อย ตั้งแต่รับสินค้ามาขาย และใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองผลิตสินค้ารูปแบบเฉพาะตัวมาขาย
แหล่งใหญ่ที่เป็นตลาดให้นักเรียนนักศึกษา ได้นำสินค้ามาขายทุกวันนี้ อยู่ที่ลานกิจกรรม เซ็นทรัลเวิลด์ "ตลาดอินดี้อินทาวน์" (INDY IN TOWN) หรือชุมนุมคนมีไอเดีย
ตลาดแห่งนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่สนใจงานประเภทแฮนด์เมด มาออกร้านจำหน่ายสินค้าเพียบ น่าจะ 200 กว่าร้านค้า โดยมีคอนเซ็ปต์ให้นั่งขายบนพื้น
ทุกวันศุกร์บ่ายสามโมงเป็นต้นไปจนถึงสามทุ่ม บริเวณลานกิจกรรมด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีตลาดอินดี้อินทาวน์เป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้ชาววัยทีนทั้งหลายที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี นำผลงานไอเดีย คิดใหม่และทำใหม่ ด้วยฝีมือ ออกมาวางจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ ทั้งนี้ สินค้าส่วนใหญ่ภายในตลาดมักจะเป็นสินค้าที่ทำจากฝีมือของชาววัยทีนล้วนๆ
จากบทสัมภาษณ์วิถีอินดี้ของนักศึกษาบางส่วน ที่มาออกร้านขายงานฝีมือของตัวเอง
ประเดิมร้านแรก ด้วยนาฬิกาดินขนมปัง โดย นายราชา หาญยงยุทธ หรือ "มิ้ม" อายุ 25 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า แนวคิดการทำนั้น เกิดจากตัวเองมีความชอบในการปั้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สะดุดคือดินขนมปัง ก็เลยไปอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับดินขนมปัง ในหนังสือเล่มนี้จะบอกวิธีการปั้นและสูตรในการปั้นหมด เริ่มแรกก็จะปั้นเป็นตัวการ์ตูนต่างๆ
เถ้าแก่อินดี้ งานฝีมือแลกโอกาส
จากนั้นก็มาดัดแปลง โดยการปั้นเป็นนาฬิกา ทั้งนี้จะเน้นผลิตสินค้าที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ การปั้นนาฬิกาดินขนมปังนั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อ 1 ชิ้น เนื่องจากไม่มีตู้อบ จึงต้องปล่อยให้ดินแห้งเอง ราคาชิ้นละ 280 บาท ส่วนการทำนาฬิกาดินขนมปังนั้นส่วนใหญ่จะใช้เวลาหลังเลิกเรียนคือค่อยๆ ทำไปวันละนิดวันละหน่อย
เจ้าของนาฬิกาดินขนมปังบอกด้วยว่า ต้องรู้จักแบ่งเวลาในการทำ การขาย เพื่อจะได้ไม่กระทบต่อการเรียนหนังสือ
ที่ร้านรองเท้ากังฟูเพนต์ ของ น.ส.อมรา ยอดทวี หรือ "จิ" เถ้าแก่เนี้ยวัยใสวัย 18 ปี นักศึกษาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวะธนบุรี อธิบายงานของตัวเอง ว่า แนวคิดการทำรองเท้านั้น โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่วาดรูปเป็นก็เลยลองเอาพรสวรรค์ที่ตัวเองมีมาดัดแปลงโดยการเพนต์รูปภาพต่างๆ เช่น การ์ตูน ลายกราฟิก มาใส่ไว้ที่รองเท้า
การเพนต์รูปภาพต่างๆ ของแต่ละคู่นั้นจะทำช่วงหลังเลิกเรียน แต่ส่วนใหญ่จะเพนต์กันสดๆ เลย ระยะเวลาในการเพนต์ก็แล้วแต่ลาย จะใช้เวลาการทำประมาณ 30 นาทีต่อคู่ สนนราคาคู่ละ 250 บาท
"รู้สึกดี เพราะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ แถมมาขายของก็ยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ อีกด้วย"
สำหรับหนุ่มหัวฟู นายวรกานต์ วัฒนะจารุอังกูร หรือ "ไผ่" วัย 25 ปี นักศึกษาคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำกล่องอเนกประสงค์ มาวางขาย นับว่าเป็นอีกร้านที่มีคนให้ความสนใจ ไม่แพ้ร้านอื่นๆ เพราะเป็นร้านขายกล่องป๊อปอาร์ต ที่สามารถใส่ของกระจุกกระจิก เช่น ต่างหู เหรียญ ปากกา ดินสอ เป็นต้น
หนุ่มหัวฟู เล่าให้ฟังว่า แนวคิดที่ทำกล่องใบนี้ คือ อยากได้กล่องใบเล็กๆ เบาๆ ก็เลยลองทำดูก่อนที่จะนำมาวางขาย ซึ่งกล่องแต่ละใบจะทำเองทั้งหมด ทั้งนี้จะนำกระดาษชานอ้อยมาใช้ เนื่องจากกระดาษชานอ้อยมีคุณสมบัติที่เหนียว นอกจากนี้ ยังตัดกระดาษและเพนต์ลวดลายต่างๆ เองทั้งหมด จนกระทั่งนำออกมาวางขาย
"รู้สึกภูมิใจเพราะทำด้วยตัวเองและใช้ฝีมือล้วนๆ สำหรับการทำกล่องนั้นส่วนใหญ่จะใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือเวลาว่างๆ มานั่งทำ โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น สำหรับกล่องป๊อปอาร์ตจะขายอยู่ในราคาที่ไม่แพงมากนัก อันละ 48 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าใครซื้อกล่องใบนี้ไปแล้ว คุ้มสุดๆๆ" นักศึกษาหนุ่มบรรยายสรรพคุณสินค้าของตัวเอง
นอกจากทั้ง 3 ร้านนี้ ก็ยังมีสินค้าแฮนด์เมดให้เลือกอีกมากมาย เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ เสื้อ ต่างหู กำไล สร้อย ฯลฯ
นอกเหนือจากสินค้าทำมือแล้ว นักศึกษาบางกลุ่มก็ได้นำสินค้าที่หลากหลายมาขายอีกด้วย เช่น ผ้าพันคอ โคมไฟกระดาษ กระเป๋า ฯลฯ
"เล็ก" เถ้าแก่เนี้ยน้อยอีกรายหนึ่ง เล่าว่า เพิ่งมาขายของได้ 3 อาทิตย์แล้ว ที่ร้านจะขายโคมไฟกระดาษ อันเล็ก จะอยู่ที่ราคา 60-70 บาท ส่วนอันใหญ่ 120 บาท โดยรับโคมไฟกระดาษ มาจากตลาดสำเพ็ง อันละ 60 บาท จะรับโคมไฟกระดาษมาประมาณครั้งละมากกว่าครึ่งโหล ส่วนที่นำโคมไฟกระดาษมาวางจำหน่าย เพราะสามารถนำมาประดับบ้าน เพื่อความสวยงาม แถมยังมีรูปแบบที่แปลกสะดุดตา ดูแล้วมีสไตล์
เล็กยังฝากทิ้งท้ายว่า "อยากให้มีพื้นที่อย่างนี้ตลอดไป ทั้งนี้ การที่ให้เปิดขายได้ในทุกวันศุกร์ ก็เห็นด้วย เพราะกว่าจะขายของเสร็จและเก็บข้าวของกลับบ้านก็ดึกมากแล้ว ซึ่งหากขายวันธรรมดา ก็จะนอนไม่เพียงพอ แถมยังไปกระทบกับการเรียนอีกด้วย"
ในวันที่ไปเดินสำรวจตลาด อยู่ๆ ฝนก็เริ่มลงเม็ด แม้บางคนที่ถอดใจเดินไปหาที่หลบฝน แต่บรรดานักศึกษา หนุ่มสาวน้อยใหญ่ ทั้งที่มาขายของและซื้อ ยังคงเพลิดเพลินเดินชมร้านค้าที่หลากหลาย
สักพักฝนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บรรดาพ่อค้าแม่ค้า รีบเก็บข้าวของกันอย่างฉุกละหุก
แต่เพียงอึดใจเดียวฝนก็เงียบไป อย่างกับว่าจะกลั่นแกล้งกัน หลังจากฝนหยุด บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ก็รีบเอาของมาวางขายกันใหม่อย่างสนุกสนาน
นับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักศึกษารู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยใช้สถานที่ใจกลางเมือง อย่างลานกิจกรรมของเซ็นทรัลเวิลด์ มาเป็นที่ชุมนุมของคนมีไอเดีย
สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีนักศึกษาน้ำดีอยู่อีกมากมาย ที่รอคอยโอกาส กับผู้ใหญ่ใจดี เปิดพื้นที่ให้แสดงความสามารถ