ครม.ขยายการคุ้มครองเงินฝาก ธปท.ชี้ ศก.52 ต่ำ กว่า 3.8% แต่ไม่ประชุม กนง.ลดดอก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.)  วานนี้  (28  ต.ค.) 

มีมติเห็นชอบหลักการในร่างพระราชกฤษฎีกา...ตามข้อเสนอกระทรวงการคลังที่ให้ยืดเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนออกไป 3 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 2552 เป็นสิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 2554 แม้ก่อนหน้านี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแสดงความไม่เห็นด้วยก็ตาม


การเปลี่ยนการคุ้มครองเงินฝากซึ่งเดิมทีจะคุ้มครองบัญชีเงินฝากเต็มจำนวน  หรือ  100  เปอร์เซ็นต์
 
จนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2552 ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) มีเจตนารมณ์ในการนำมาใช้แทนกองทุนพื้นการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มีการยกเลิกการค้ำประกันเงินฝาก หากมีธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย หรือต้องปิดกิจการ มีอันต้องขยายระยะเวลาการคุ้มครองออกไป 3 ปี ภายใต้เหตุผลของนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า ต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงินเช่นที่รัฐบาลกลางของหลายประเทศทั่วโลกประกาศให้การคุ้มครองเงินฝากเต็มตามจำนวน


ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกเพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้ฝากเงิน ท่ามกลางวิกฤติสถาบันการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก และส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกต้องถดถอย สำหรับ  พ.ร.บ.ดังกล่าว เดิมกำหนดให้ปีแรก เงินฝากที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน   จะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน หลังจากนั้นในปีที่ 2, 3 และ 4 จะลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือบัญชีละไม่เกิน 100 ล้านบาท,50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป จะคุ้มครองเงินฝากไม่เกินบัญชีละ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน 


ส่วนความเห็นของนายสุชาติที่เสนอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน  ธปท.ยืนยันว่า

  ธปท.จะยังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณานโยบายดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ โดยยังคงกำหนดการเดิมที่จะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 ธ.ค. 

แม้ว่าธนาคารบางประเทศจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงก่อนหน้าเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ   อย่างไรก็ตาม   นโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ  กนง.  ซึ่งต้องติดตามดูว่า   ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะกระทบเศรษฐกิจไทยมากเพียงใด ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในขณะนี้ลดลงมากแล้ว ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ ยังเคลื่อนไหวเป็นไปตามสกุลเงินในภูมิภาค 


น.ส.ดวงมณียังกล่าวถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี  2552  ด้วยว่า 

หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก หรือมาตรการที่ออกมาแล้วนำไปใช้ไม่ได้ผล  ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3.8% ได้ แม้ว่าการคาดการณ์ในส่วนของ  ธปท.จะมีโอกาสที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ระหว่าง 3.8-5.0% ก็ตาม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
 
การประชุม กนง.ครั้งล่าสุด  เมื่อวันที่  8  ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร  (อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ไว้ที่ 3.75% เช่นการประชุมครั้งก่อน โดยระบุว่า
การใช้นโยบายการเงินต่อจากนี้ จะเน้นการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการดูแลเงินเฟ้อ และคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเมือง


สำหรับการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีขึ้นในวันนี้ (29 ต.ค.) ภายใต้การคาดการณ์ว่า

เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% หรือ 0.75% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.5% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการเงินของสหรัฐฯที่ลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลก กระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อการช่วยสภาพคล่องมากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจให้แก่การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก 


ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า

สศค. กำลังศึกษาและเตรียมมาตรการต่างๆไว้รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะต่อไปแล้ว โดยคาดว่าน่าจะสามารถสรุปมาตรการได้ในอีก 1-2 วัน ก่อนนำเสนอ รมว.คลังพิจารณามาตรการซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง. 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์