ส.อ.ท.ชี้ไทยเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ กังวลคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างชาติในไตรมาสแรกปีหน้าลดลง 30% ชี้กระทบแรงงานแน่ อาจโดนลอยแพถึงล้านคน ส่วนนักศึกษาเพิ่งจบปีหน้าหางานทำยาก มองวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้หนักกว่าปี 40 จี้รัฐต้องเร่งหันแก้ปัญหาเศรษฐกิจด่วน เข็น 6 มาตรการให้เป็นรูปธรรม
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ที่ประชุมเกรงว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะบั่นทอนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 แย่ลง และมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกปี 2552 จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่วิกฤติการเมืองยังมองไม่เห็นทางออก ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนวิกฤติซ้อนวิกฤติ
ทั้งนี้ จากการหารือกันพบว่า คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มลดลงแล้ว ทำให้ธุรกิจในต่างจังหวัดมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องหนัก
เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น เกรงว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก จะมีปัญหากระแสเงินสด และสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีปัญหาทำให้ธนาคารของไทยไม่รับทำแพ็กกิ้งเครดิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ทำให้ต้องไปเปิดแอลซี ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น
"ส.อ.ท.ต้องการเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะการกระจายงบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งวางแผนร่วมกับ ส.อ.ท.เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้" นายธนิตกล่าว
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เท่าที่สอบถามผลกระทบการส่งออกจากสมาชิกพบว่า คำสั่งซื้อจากต่างประเทศช่วงไตรมาสแรกปี 2552 ลดลงอย่างน้อย 30%
ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อการจ้างงานต้นปี 2552 แน่นอน หากคำสั่งซื้อลดลงในระดับดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการจ้างงานลง 10-15% หรือราว 9 แสนถึง 1 ล้านคน จึงน่าเป็นห่วงผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีหน้าประมาณ 7 แสนคน จะมีปัญหาเรื่องการหางานทำลำบากขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น