ธุรกิจข้างทางหลวงคึกคัก ชาวบ้านแห่นำนกและหนูจากท้องนามาตั้งแผงวางขาย โดยเฉพาะเส้นสุพรรณ บุรี-บางบัวทอง
แต่สินค้าขายดีสุดกลับเป็นงูเห่าเป็นๆ ตัวโตๆ ราคางามถึงตัวละ 500-600 บาท สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ระบุมีนักกินงูเดินสายมากินสดๆ โดยเฉพาะ พ่อค้าเผยนอกจากชาวบ้านจะมีรายได้แล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปรุงอาหารให้กับผู้ซื้อ หวั่นขาดตลาดหากมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายสละ พร้อมพิมพ์ พ่อค้าชาวสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ยึดอาชีพขายนก หนู และงูเห่ามาแล้วกว่า 10 ปี
ใช้ถนนสายเส้น 340 สุพรรณบุรี-บางบัวทอง เป็นจุดขายโดยแบ่งกระจายขายจำนวน 5 จุด เริ่มจากตัวเมืองสุพรรณบุรี จนถึงบางบัว ทอง โดยใช้คนในครอบครัวกระจายจุดจำ หน่ายออกไป สำหรับตนจะอยู่จุดใหญ่เป็นจุดแปรรูปหนูสดให้เป็นหนูย่างนำเครื่องในออก พร้อมส่งจำหน่ายในแต่ละจุด ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 150-160 บาท ส่วนงูเห่าจะขายในราคาตัวละ 500-600 บาท แล้วแต่ขนาด
นายสละ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้นิยมกินหนูนาและงูเห่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
เพราะจากยอดปริมาณการขายตลอด 10 ปี กลับดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เนื้อหมูราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท สำหรับคนที่กินหนูนาน่าจะมีปริมาณมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวมาแวะซื้อในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาจะมียอดขายคงที่ มีลูกค้าขาประจำ สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติจะแวะเวียนขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในช่วงวันหยุดเช่นกันเป็นระยะ ซึ่งหนูนาที่คนนิยมกินจะเป็นหนูนาที่ดักกรงเป็นหนูสดเป็นๆ มาย่าง ส่วนหนูดักตายค้างคืนจะไม่นิยมกินเนื่องจากเนื้อหนูจะไม่มีความสดในตัว
นายสละ กล่าวอีกว่า ส่วนงูเห่าจะเป็นกลุ่มของนักกินงูตัวจริง ส่วนมากงูเห่าจะมีผู้ที่ชำนาญวิธีการทำและต้องการสดๆ เป็นๆ
สำหรับงูตายที่ขายราคาต่ำกว่าครึ่งก็ไม่เป็นที่นิยมของนักกินงูทั่วไปเพราะไม่ได้ความสด สำหรับช่วงนี้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำนามากขึ้นส่งผลให้หนูนาน้อยลงกว่าเดิมหลายเท่า เพราะหนูจะขาดอาหารและความสมบูรณ์ และยังมีความต้องการของกลุ่มนักกินหนูนาเพิ่มขึ้น ซึ่งอนาคตถ้ามีผู้นิยมมากขึ้นอีกอาจส่งผลให้หนูนาขาดตลาดก็เป็นได้ เพราะหนูนามีจำนวนจำกัดแต่ความต้องการบริโภคหนูนาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนตัวเตรียมวางแผนจุดรับซื้อให้กว้างขึ้นเพื่อเป็นการรองรับ
นายไพรัช หวังดี เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มคนกินหนูนาเท่าที่ทราบมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จากเดิมที่มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ในวงแคบเท่านั้น
เนื่องจากหนูนาก็กินอาหารจำพวกข้าวและผลไม้ซึ่งมีความสะอาด และเมื่อผ่านกระบวนการขั้นตอนการแปรรูปให้สุกก็ยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้น และยังเป็นการกำจัดศัตรูของเกษตรกรที่ทำสวนผลไม้และนาข้าวอีกทางหนึ่ง เพราะวงจรหนูจะมีการแพร่พันธุ์เร็ว ถ้ามีการดำเนินการอย่างที่เป็นอยู่มีวงจรของคนกินหนูเพิ่มปริมาณหนูก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเทียบราคาเนื้อหมู 1 กิโลกรัมกับราคาหนูนาแล้ว ราคาเนื้อหมูยังถูกกว่าราคาหนูนามาก ซึ่งกลับกันคนกินหนูในปัจจุบันนี้คงเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อคนมีเงินที่ไม่ใช่ชาวบ้าน และชาวบ้านก็ไม่มีกำลังซื้อหนู อยากกินก็ต้องดักเอามาแปรรูปเอง