"สมชาย"ชู"แม้ว"เจ๋ง ต้นคิดมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความดีที่ขอพูดถึง จนอาเซมนำมาต่อยอด ไม่ต้องไปรอแบมือขอเงินจากทั่วโลก "โอฬาร"ประเดิมออกรายการ"รัฐบาลของประชาชน" ขนมาตรการเก่าโชว์เป็นแผนกอบกู้เศรษฐกิจ ปลอบแม้อยู่ในที่มืดแต่อย่าหวั่นไหว ปชป.ชี้ 6 มาตรการ ไม่มีเม็ดเงินใหม่อัดฉีด แต่เป็นวงเงินเก่าที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว จี้ถามยังยืนยันสารพัดเมกะโปรเจ็คต์ รบ.สมัครหรือไม่ และจะกู้เงินจากไหนมาทำ
@ "โอฬาร"ขุดมาตรการเก่าประเดิมโชว์
นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแขกรับเชิญรายการ "รัฐบาลของประชา ชน" เป็นคนแรก ในรายการที่รัฐบาลจัดขึ้น โดยออกอากาศเป็นครั้งแรก ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีที เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 26 ตุลาคม หลังจากรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ต้องเลิกไป เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายโอฬารสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้เป็นระยะมานำเสนออีกครั้ง อาทิ ผลการหารือระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) 13 ประเทศ ที่เห็นชอบแนวทางป้องกันปัญหาวิกฤตการเงินจากสหรัฐและยุโรป ด้วยการปรับปรุง "มาตรการริเริ่มเชียงใหม่" เพิ่มวงเงินจาก 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมขยายการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกประเทศที่ต้องการเงินแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น,การนำเงินจากกองทุนความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งประเทศขนาดใหญ่ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งกรอบทุกประเทศตั้งกองทุนไปแล้วมาตั้งเป็นกองทุนร่วมกัน เพื่อนำเงินมาช่วยปล่อยกู้ให้ประเทศที่ต้องการเงินลงทุนระยะยาว รวมถึงหารือกับทางการจีนเพื่อให้ปล่อยเงินกู้ให้กับไทยเพื่อนำมาดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็คต์
@ ปลอบอยู่ที่มืดแต่อย่าหวั่นไหว
นอกจากนี้นายโอฬารยังกล่าวถึง 6 มาตร การของรัฐบาล เพื่อเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปแล้ว โดยตั้งเป้าทำให้เศรษฐ กิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% "ภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้ ซึ่งก็เหมือนกับทุกคนอยู่ในที่มืด เราต้องตั้งสติ อย่าหวั่นไหว อย่าวิตก ต้องตัดสินใจลงทุนจากข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประชาชนทุกคน ในส่วน ของรัฐบาลยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ จากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้" นายโอฬารกล่าว
@ "สมชาย"ชู"แม้ว"เจ๋ง-มีความดี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดเชียงใหม่ ซู อควาเรียม หรือสถานแสดงสัตว์น้ำภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจพอควรจากผลกระทบจากต่างประเทศ ซึ่งในการประชุมอาเซมก็พูดถึงเรื่องนี้ถึงหนึ่งวันครึ่ง เพราะทุกประเทศห่วงเรื่องนี้มาก ไทยเคยมีปัญหาในช่วงปี 2540 แต่ที่ร้ายแรงกว่า คือ ช่วงต้มยำกุ้ง และขณะนี้กลับไปเกิดที่ต่างประเทศ เหมือนเป็นการแก้แค้นกันแต่ไม่ควรคิดอย่างนั้น หากแต่ต้องเตรียมการป้องกันและรับมือเพราะจะมีผลต่อสถาบันการเงิน การจัดเก็บภาษีลดลง แต่อย่างน้อยก็มี 6 มาตรการสำคัญออกมาบรรเทาและแก้ไขได้
นายสมชายกล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนได้ถือโอกาสเชิญผู้นำจากประเทศต่างๆ มาพูดคุยและเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งได้บอกว่านี่ (มาตรการริเริ่มเชียงใหม่) เป็นความคิดริเริ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นความดีที่ขอพูดถึงว่าเราไม่ควรไปแบมือขอคนอื่นจากทั่วโลก โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ก็บอกว่าควรสานต่อในลักษณะเป็นพันธมิตรลงทุนทางการเงินร่วมกัน ซึ่งเดือนหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จากประเทศต่างๆ จะนัดหารือกันเพื่อกำหนดรูปแบบ และเดือนธันวาคมขอใช้เชียงใหม่ เป็นที่ประชุม เบื้องต้นน่าจะมีวงเงินประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่เกิน 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
@ ปชป.ติงอย่าประมาทวิกฤตโลก
ขณะที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ออกมา วิพากษ์วิจารณ์ 6 มาตรการของรัฐบาล เหมือนกับที่นักวิชาการ และภาคธุรกิจเคยวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่อ้างว่า 6 มาตรการจะนำเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ 1.2 ล้านล้านบาท ในข้อเท็จจริงเป็นเงินเก่าที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว และมีความชัดเจนในส่วนเงินใหม่ที่จะเข้ามาไม่ถึงแสนล้านบาท โดยผ่านตลาดทุน จึงไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกรที่กำลังได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด ส่วนการแก้ปัญหาเร่งด่วน กลับไม่มีการพูดถึงรายละเอียด สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือการประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจในโลกไม่มีผลกับไทย และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลคิดขึ้นในระดับมหภาคจะสามารถป้องกันผลกระทบได้ ซึ่งเป็นการประเมินที่ผิด เพราะราคาสินค้าการเกษตรทุกประเภทที่มีการปรับลดลงมา เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก หากรัฐบาลยังคิดว่าไทยปลอดจากผลกระทบ ถือเป็นการประเมินที่ผิด ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมจนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
@ จี้ตอบเมกะโปรเจ็คต์ใช้เงินจากไหน
นายสรรเสริญ สมะลาภา สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกคน กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคแค่ 3 เรื่อง คือ การเพิ่มการส่งออก และการท่องเที่ยว การเร่งรัดงบประมาณรายจ่าย และเมกะโปรเจ็คต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่โดย เฉพาะการส่งออกที่มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้น 300,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์เดิมกำหนดเพิ่ม 600,000 ล้านอยู่แล้ว หรือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ในครึ่งปีแรกที่จะให้มากกว่าปีที่ผ่านมา 180,000 ล้านบาท ยอดงบประมาณของปี 2553 เพิ่มจากปี 2551 จำนวน 180,000 ล้านบาท มีคำถามว่า เมื่อยอดที่ถูกเพิ่มขึ้นได้ถูกใช้ไปในครึ่งปีแรกแล้ว ในครึ่งปีหลังจะไม่มีแรงกระตุ้นพิเศษจากรัฐบาลเลยหรือ ดังนั้นเม็ดเงินในภาคเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ใช่เม็ดเงินใหม่ แต่เป็นเม็ดเงินเดิมที่คาดหมายกันอยู่แล้ว จึงไม่คาดหวังอะไรมากจาก 6 มาตรการนี้
นายสรรเสริญกล่าวว่า เมกะโปรเจ็คต์ไม่ได้มีแค่ 3 เรื่องที่รัฐบาลระบุไว้ คือ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การขนส่งทั่วประเทศ และพลังงาน แต่ยังมีโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ทรัพยากรน้ำ การศึกษา สาธารณสุขและที่อยู่อาศัย และไม่ได้ลงทุนเฉพาะปีนี้ปีเดียว แต่จะต้องลงทุนทั้งหมด 4 ปี จึงไม่ใช่งบประมาณแค่ 350,000 ล้านบาทตามที่รัฐบาลระบุ แต่ทั้ง 4 ปีจะเป็นเงินถึง 1,800,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการกู้เงินถึง 1,000,000 ล้านบาท คำถามคือรัฐบาลยังยืนยันที่จะทำเมกะโปรเจ็คต์ที่รัฐบาลนายสมัครวางไว้ทั้งหมดหรือไม่ หากจะเดินหน้าก็จะต้องตอบให้ชัดเจนว่าจะนำเงินกู้จากไหน และจะกู้แหล่งละเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นห่วงว่าหากกู้ภายในประเทศซึ่งมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่แค่ 700,000 ล้านบาท จะกระทบกับสภาพคล่องของการดำเนินธุรกิจในภาคเอกชนหรือไม่ หรือถ้าจะกู้จากต่างประเทศ ขณะนี้สถาบันการเงินชั้นนำของโลกล้วนแต่มีปัญหา นอกจากนี้รัฐบาลต้องตอบเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะ หากกู้เงินอีก 1,000,000 ล้านบาท ในต้นปี 2552 จะชนเพดานร้อยละ 50 ของจีดีพีหรือไม่ ถึงแม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีแผนก่อหนี้ระยะสั้นขึ้นมา โดยยืนยันว่าจะไม่ชนเพดาน แต่ต้องถามในเรื่องสมมติฐานที่เกิดขึ้น เช่น อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ มูลค่าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่จะต้องขยายตัวตามเงินเฟ้อ หรือการขาดดุลงบประมาณประจำปี ที่จะต้องรวมอยู่ในแผนดังกล่าว คิดว่ารัฐบาลต้องตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเมกะโปรเจ็คต์สามารถเดินหน้าต่อไปได้
@ แนะวิธีช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี
สำหรับปัญหาสภาพคล่องต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในประเทศนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมายืนยันว่าสภาพคล่องมีเพียงพอนั้น ความจริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ธนาคารจะปล่อยกู้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่จะปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยต้องลดลง แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ห่างกันจนเกินไป รัฐบาลต้องหาทางช่วยธนาคารพาณิชย์ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ให้มีเงินหมุนเวียนมาประกอบธุรกิจ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศจะรับจำนำข้าวขาวในราคาตันละ 1.2 หมื่นบาท โดยให้มีผลวันที่ 1 พฤศจิกายนนั้นถือว่าช้าเกินไป เพราะเกษตรกรชาวภาคเหนือเริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และมีปัญหาไม่มียุ้งฉางเก็บ
"การที่นายโอฬารแนะนำให้ชาวบ้านเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ถือว่าไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวนา เพราะพวกเขาไม่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนำไปขายที่โรงสีทันที ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของความชื้น และตราชั่ง จึงทำให้เวลานี้ราคาข้าวต่อเกวียนตกลงเหลือเพียง 7.3 พันบาทต่อเกวียนเท่านั้น จึงขอให้รัฐบาลเข้าไปดูแลปัญหา หากช้าเกินไปจะมีม็อบชาวนาออกมาปิดถนนอย่างแน่นอน ส่วนปัญหาราคาข้าวโพดที่นายโอฬารบอกจะนำเรื่องเข้าสู่ ครม.วันอังคารนี้ กำหนดราคารับจำนำไว้ที่ 8.20-8.50 บาท โดยตั้งค่าความชื้นอยู่ที่ร้อยละ 14.5 นั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะไม่มีเกษตรกรคนใดจะทำได้ ยกเว้นพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น ความชื้นที่สามารถทำได้อยู่ที่ร้อยละ 18-24 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับความชื้นให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ม็อบเกษตรกรข้าวโพดภาคเหนือทั้งหมดจะรวมตัวกันอย่างแน่นอน" นพ.วรงค์กล่าว
@ นักเศรษฐศาสตร์ชี้รื้อการเงินโลกยาก
เอเอฟพีรายงานว่า แม้ที่ประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) จะออกแถลงการณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่จีนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้การสนับสนุนการปฏิรูปการเงินโลก ซึ่งถือเป็นชัยชนะของนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะประธานสหภาพ ยุโรปที่สามารถโน้มน้าวให้เอเชียยอมรับหลักการปฏิรูปการเงิน ที่ยุโรปเป็นฝ่ายผลักดันเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำยุโรปและสหรัฐในวันที่ 15 พฤศจิกายน แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศเอเชีย ดังนั้น ยังน่าสงสัย ว่าการประชุมวันที่ 15 พฤศจิกายนจะมีผลใดๆ ออกมาหรือไม่
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คงไม่ยอมยกอธิปไตยทางการเงินของตนเองให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานระหว่างประเทศ ตามแนวคิดของยุโรปที่จะให้มีการตั้งหน่วยงานระหว่างประเทศขึ้นมากำกับดูแลสถาบันการเงินโลก โดยเฉพาะจีนนั้นแม้ปากจะบอกว่าสนับสนุนการปฏิรูป แต่ที่ผ่านมาจีนมักจะไม่เต็มใจอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยนานาชาติ ส่วนญี่ปุ่นนั้นก็ยิ่งต้องระวังท่าทีในการสนับสนุนยุโรป เพราะเกรงจะทำให้สหรัฐไม่พอใจ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาแสดงออกว่าต้องการให้ตลาดการเงินโลกเป็นระบบเปิดต่อไป ไม่ควรถูกควบคุมเข้มงวดมากนัก
@ ธ.โลกเล็งเพิ่มวงเงินกู้ปท.ยากจน
ด้านองค์การความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งเป็นกลุ่มของประเทศอุตสาหกรรม ได้ออกมาเตือนว่า โลกต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและตลาดทุนก็จริง แต่รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกอยู่ภายใต้กับดักของการกำกับควบคุมมากเกินไป เพราะการควบคุมมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงิน, การเชื่อมโยงของตลาดและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางที่ดีนั้นไม่ควรมีการควบคุมมากกว่าเดิม เพียงแต่ควบคุมให้ดีและมีประสิทธิ ภาพมากกว่าเดิมก็น่าจะเพียงพอ
รอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารโลกเตรียมจะเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาวแก่ประเทศยากจนเพื่อรับมือวิกฤตการเงินโลก โดยจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจากระดับปัจจุบัน 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ มุ่งเป้าปล่อยกู้ให้กับ 10 ประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริกา เช่น กานา บังกลาเทศ เขมร นอกจากนี้ยังกำลังพิจารณาตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือประเทศเหล่านี้
สมชายชูอาเซมต่อยอด ความดีแม้ว เจ้าไอเดียริเริ่มเชียงใหม่
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ สมชายชูอาเซมต่อยอด ความดีแม้ว เจ้าไอเดียริเริ่มเชียงใหม่