เมื่ออดีตตำรวจประท้วง เลิกอุทิศร่างกาย-ดวงตา ให้กับแพทย์ร.พ.จุฬาฯ


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้คนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าจะไปทางไหนล้วนมีแต่คำถามให้เลือกข้าง!??

ทั่วทุกหัวระแหงมีแต่ความเห็นที่แตกต่าง ยิ่งเกิดเหตุปะทะกันก็ยิ่งสุมไฟให้สถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ที่มีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม ส่งผลทำให้ประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากมาย กลายเป็นสถานการณ์ที่ขยายความแตกแยกอยู่ในขณะนี้ และก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่ายๆ

มิหนำซ้ำยังสร้างความเกลียดชังและความหวาดระแวงเกิดขึ้นทั่วไป

ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งแสดงออกให้เห็นว่า รับไม่ได้กับการสลายม็อบของตำรวจ ด้วยการประท้วงไม่รับรักษาตำรวจ

เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมถกเถียงกันไป 2 ทาง

กลุ่มแพทย์และพยาบาลที่ว่านั้น คือ แพทย์จากร.พ.จุฬาฯ ซึ่งหลังจากออกมาบอยคอตตำรวจก็ทำให้มีตำรวจจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่เข้าใจและท้อแท้

ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจเก่าที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ออกมาตอบโต้การกระทำของหมอร.พ.จุฬาฯ อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าทางผอ.โรงพยาบาลจะออกมาปฏิเสธว่าเป็นเพียงแนวคิดของแพทย์บางกลุ่มก็ตาม

แต่ก็ยังไม่สามารถยุติข้อถกเถียงลงได้

ดังกรณี พ.ต.ต.สาโรจน์ นนทเศรษฐ อายุ 80 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/95 แฟลตการเคหะ ซอยศรีบูรพา 18 ถ.ศรีบูรพา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ส่งจดหมายระบายความอัดอั้นไปถึงร.พ.จุฬาฯ ขอยกเลิกการอุทิศร่างกายและดวงตาให้กับทางโรงพยาบาล ด้วยเหตุผลที่ว่ากลัวหมอจะรังเกียจร่างตำรวจ

และต่อจากนี้คือรายละเอียดของจดหมาย

กราบเรียน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เคารพอย่างยิ่ง กรณีที่กระผม พันตำรวจตรี สาโรจน์ นนทเศรษฐ อายุ 80 ปี ข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งความจำนงอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปรากฏตามสำเนาบัตรอุทิศร่างกาย เลขที่ 8254 พร้อมกับได้อุทิศดวงตา ตามสำเนาบัตรเลขที่ A018155 ไว้แล้วนั้น


บัดนี้ กระผมได้รับทราบข่าวจากสื่อทั้งหลายว่า คณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะไม่รับตรวจรักษาผู้ที่เป็นตำรวจ ทำให้กระผมรู้สึกตกใจมาก และเกรงว่าการอุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ได้ทำการศึกษา ตามที่สภากาชาดไทยกล่าวว่าเปรียบเสมือนเป็น "อาจารย์ใหญ่" นั้น อาจถูกปฏิเสธหรือรังเกียจจากคณะนักศึกษาและแพทย์ไม่ยอมรับร่างกายของกระผม ซึ่งเป็นตำรวจไว้ทำการศึกษาก็เป็นได้

ดังนั้น กระผมจึงขอถอนตัวออกจากการอุทิศร่างกายและดวงตาให้กับสภากาชาดไทย เพื่อมิให้เป็นที่รังเกียจของคณะนักศึกษาและแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต่อไป พร้อมนี้ได้ส่งบัตรอุทิศร่างกายและดวงตา คืนมาด้วยแล้ว

อนึ่ง กระผมใคร่ขอกราบเรียนมาด้วยความเคารพว่า การปฏิบัติของกระผมครั้งนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับการเป็นสถาบันหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น กระผมเป็นตำรวจเพราะต้องการประกอบอาชีพให้มีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น ไม่มีจิตสำนึกอันสูงส่งแต่ประการใด คงจะไม่เหมือนสถาบันของแพทย์ ที่มีเกียรติยศ เกียรติศักดิ์อันสูงค่า
 
กระผมทราบดีว่าพวกท่านทั้งหลายล้วนก่อกำเนิดมาจากสถาบันอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระราชภาระอุปถัมภก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็มีสภากาชาดไทยเป็นผู้สนับสนุน

โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์อุปถัมภก มีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นองค์สภานายิกา มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปนายิกาอำนวยการ


แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้น เหตุใดคณะแพทย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงแสดงอาการออกมาให้ปรากฏต่อสาธารณะ ต่อต้านการกระทำของตำรวจ พวกท่านอาจจะลืมตัวไปว่าท่านเป็นแพทย์มีจรรยาบรรณที่จะต้องรักษาผู้เจ็บป่วย ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว แม้เป็นผู้ร้ายฆ่าคนต้องโทษประหารชีวิตอยู่ในเรือนจำ เมื่อเขาเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลเขา จะปล่อยให้เขาตายไปต่อหน้าต่อตากระนั้นหรือ

กระผมได้อ่านนิตยสาร "สนองโอษฐ์ สภากาชาดไทย" ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อให้สภากาชาดไทยมีความก้าวหน้าเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป ทรงมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า

"ขอให้ช่วยกันอุดหนุนสภากาชาดไทยตามกำลังของตน เพราะสภากาชาดไทยขยายกิจการกว้างขวางออกไปได้มากเท่าใด ประชาชนพลเมืองเองจะเป็นผู้ได้รับผลจากการสงเคราะห์ของสภากาชาดไทยมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ สภากาชาดไทยเป็นสภาการกุศลสงเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย บาดเจ็บ ทั้งในยามสงคราม กรณีพิพาท และยามสงบ รวมทั้งการบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎร เมื่อเกิดสาธารณภัยต่างๆ โดยไม่เลือกชั้น ลัทธิ ศาสนา โดยยึดหลัก "มนุษยธรรม"

ฉะนั้น การออกประกาศไม่รับรักษาตำรวจก็ดี การเดินขบวนต่อต้านการกระทำของตำรวจก็ดี กระผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคณะแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กระผมก็ยังคงขอ กราบเท้าขอบพระคุณคณะแพทย์ทั้งหลาย ที่ได้ช่วยดูแลรักษาให้กระผมมีชีวิตยืนยาวมาถึง 80 ปี

สุดท้ายนี้ กระผมกราบขออภัยที่ได้รบกวนเวลาอันมีค่าของท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะแพทย์ นิสิต นักศึกษาทั้งหลาย จะได้มีจิตสำนึกที่ดีงามต่อไป

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง พันตำรวจตรี สาโรจน์ นนทเศรษฐ

นอกจากนี้ พ.ต.ต.สาโรจน์ ยังส่งจดหมายมายังผู้สื่อข่าวด้วย เนื้อความกล่าวว่า ผมส่งสำเนา จ.ม.ฉบับนี้มาเพื่อขอให้ท่านพิจารณาว่า สมควรจะลงเป็นข่าวหรือไม่ เนื่องจากผมเห็นว่าการกระทำของแพทย์ทั้ง 2 สถาบัน เป็นการใช้อารมณ์โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมมีความบริสุทธิ์ใจในการที่ยอมสละร่างกายและดวงตา เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของแพทย์ เมื่อประสานกับเหตุการณ์นี้ จึงรู้สึกเสียใจมาก และคิดว่าการปฏิบัติของผมดังนี้ ควรจะเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง จึงเรียนรบกวนมา

นับเป็นอีกหนึ่งความเห็นที่แตกต่าง!??

นี่คือภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่ง ที่บ่งชี้อุณหภูมิระหว่างผู้คน ระหว่างฝักฝ่าย

สถานการณ์เช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นหนทางของกลุ่มรักสันติ ฝ่ายเป็นกลาง อาทิ กลุ่ม "เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช‰ความรุนแรง" ที่พยายามใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นขาวต้านความรุนแรง ปลุกพลังเงียบที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง "เครือข่ายกลุ่มคนรักสันติ" ที่รณรงค์ให้ใช้ "สติ" แก้ปัญหาความขัดแย้ง ไปจนถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล "ฮิวแมนไรต์วอตช์" ที่ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรฯ ยุติความรุนแรงแก้ปัญหาโดยสันติวิธี

ความขัดแย้งแตกต่างความคิดนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรโหมไฟแห่งความเคียดแค้นชิงชังเข้าหากัน

ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ล้วนต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตสังคมไทยในขณะนี้!!

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์