เวลา 11.30 น. พล.ต.ต.วิทยา รัตนวิชช์ ผบก.น.6 พ.ต.อ.ชุมพร กาญจนรัตน์ ผกก.สน.ปทุมวัน และ พ.ต.ต. ภิวัชร์ ไชยศรีสุทธิ์ สว.สป.สน.ปทุมวัน ร่วมกันแถลงผลจับกุม นายไซม่อน โบย สัญชาติมาเลเซีย ผู้ต้องหาใช้บัตรเครดิตและหนังสือเดินทางปลอม พร้อมของกลางบัตรวีซ่าธนาคารต่างๆ รวม 10 ใบ
ใบบันทึกรายการขายสินค้าของธนาคาร กสิกรไทย ยอดเงินจำนวน 49,980 บาท จำนวน 1 ใบ หนังสือเดินทางปลอมของประเทศฮ่องกง ซึ่งมีรูปถ่ายผู้ต้องหาติดอยู่จำนวน 2 เล่ม และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย รุ่น N 81 อีก 2 เครื่อง
โดยสามารถจับกุมตัวได้ขณะที่ผู้ต้องหากำลังใช้บัตรเครดิตปลอมรูดซื้อสินค้าบนห้างสยามพารากอน เมื่อเวลา 19.00 น.วานนี้ (20 ต.ค.)
พล.ต.ต.วิทยา กล่าวว่า ก่อนการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากผู้แทนของสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพนำบัตรเครดิตปลอมมาใช้รูดซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ บก.น.6 ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายมูลค่ามหาศาล
จึงได้ส่งกำลังไปเฝ้าสังเกตุการณ์ตามห้างต่างๆ จนกระทั่งช่วงหัวค่ำวานนี้ (20 ต.ค.) เจ้าหน้าที่พบนายไซม่อน นำบัตรเครดิตของธนาคาร กสิกรไทย ไปใช้รูดซื้อโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อซัมซุง รุ่น OMNIA จำนวน 2 เครื่อง ในราคา 49,980 บาท บนห้างสยามพารากอนด้วยท่าทางมีพิรุธ
จึงเข้าตรวจค้นพบบัตรเครดิตในตัวอีก 6 ใบ โดยไม่สามารถบอกที่มาที่ไปของบัตรทั้งหมดได้ เมื่อพาไปตรวจค้นห้องพักในโรงแรมย่านสุขุมวิท ยังพบบัตรเครดิตปลอมเพิ่มอีก 3 ใบ และหนังสือเดินทางปลอมอีก 2 เล่ม จึงควบคุมตัวมาสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน
จากการสอบสวน นายไซม่อน ให้การว่า เป็นพ่อครัวประจำร้านอาหารในประเทศมาเลเซีย แต่ติดเล่นการพนันฟุตบอลอย่างหนัก ทำให้เป็นหนี้โต๊ะรับแทงบอลมากถึง 40,000 ริงกิต หรือประมาณ 400,000 บาท
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหนี้ได้สั่งให้ทำงานขัดดอกด้วยการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วขึ้นรถไฟจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาที่กรุงเทพฯ เมื่อเดินทางมาถึงเจ้าหนี้ได้ส่งคนมายึดหนังสือเดินทางฉบับจริงของตน ซึ่งออกโดยประเทศมาเลเซียไป แล้วมอบหนังสือเดินทางปลอมทั้ง 2 เล่มให้ถือไว้แทน ก่อนจะพาไปพักที่โรงแรมย่านสุขุมวิท
จากนั้นทางเจ้าหนี้ได้ส่งทั้งคนไทยและต่างชาติสลับสับเปลี่ยนกันนำบัตรเครดิตปลอมมาให้ตนนำไปรูดซื้อโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป และคอมพิวเตอร์ ตามร้านภายในห้างชื่อดังย่านปทุมวันทุกวัน ซึ่งบัตรบางก็รูดไม่ผ่าน แต่ถ้าใบไหนที่รูดสำเร็จก็จะมีคนมารับสินค้าจากตนไปในทันที ซึ่งการรูดซื้อสินค้าได้ในแต่ละครั้ง ตนจะได้รับค่าตอบแทนเที่ยวละ 3-10 เปอร์เซ็นต์ โดยเจ้าหนี้จะหักเงินรายได้ส่วนนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินต้นจะหมด
ด้าน นายสมชาย พิชิตสุรกิจ ประธานหัวหน้าคณะทำงานป้องกันทุจริตบัตรเครดิต ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต กล่าวว่า บัตรเครดิตที่ยึดได้จากนายไซม่อน นั้นแม้จะเป็นบัตรปลอม แต่ข้อมูลภายในแถบแม่เหล็กเป็นข้อมูลจริงของลูกค้าทุกอย่าง
สำหรับการขโมยข้อมูลภายในบัตรนั้นมีอยู่หลายขั้นตอน อย่างง่ายๆ ก็คือ การใช้เครื่องสกรีมเมอร์ไปว่าจ้างให้พนักงานตามปั๊มน้ำมัน หรือร้านอาหาร และตามสถานบันเทิงถือเอาไว้ เมื่อลูกค้ายื่นบัตรให้เพื่อชำระค่าบริการ พนักงานก็จะนำบัตรมารูดใส่เครื่องสกรีมเมอร์ทำการบันทึกข้อมูลในแถบแม่เหล็ก ก่อนที่จะเอาข้อมูลดังกล่าวไปเอนโค๊ดเดอร์ใส่บัตรปลอมที่ทำรอเอาไว้แล้ว
ส่วนวิธีแก้ปัญหาขณะนี้สถาบันการเงินต่างๆ พยายามที่จะเปลี่ยนการบันทึกข้อมูลจากในแถบแม่เหล็ก เป็นการบันทึกลงในชิฟแทน ซึ่งทราบว่ากำลังใช้ความพยายามกันอยู่
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา ใช้หรือมีไว้ใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระสินค้า แทนการชำระด้วยเงินสด โดยประการที่จะก่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ,ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินคดีต่อไป