รายงานระบุว่าโครงการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงปางช้างและบริษัทเอกชน ซึ่งร่วมกันศึกษาวิจัยในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งมานานกว่า 8 ปี ได้ประสบความสำเร็จ โดยมีช้างตั้งท้องด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นรายแรกของโลก
น.สพ.รณชิต รุ่งศรี หนึ่งในทีมสัตวแพทย์โครงการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง เปิดเผยว่า หลังประสบความสำเร็จในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อสด ทีมวิจัยจึงเริ่มทดลองใช้น้ำเชื้อช้างซึ่งรีดเก็บแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส มาใช้ในการผสมเทียมแต่ปรากฏว่าที่ผ่านมายังไม่มีการยืนยันว่า มีการตั้งท้องด้วยวิธีการดังกล่าว
กระทั่งวันที่ 27 - 29 ตุลาคม 2550 ทีมวิจัยได้ทำการผสมเทียมในแม่ช้างชื่อ "พังสาว" อายุ 26 ปี ช้างในปางช้างแม่สา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อีกครั้ง ซึ่งหลังจากทำการผสมเทียมได้ตรวจสอบปริมาณฮอร์โมน ในกระแสเลือดทุกสัปดาห์และพบว่าปริมาณฮอร์โมนของพังสาว เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจมีการตกไข่ กระทั่งมีการได้ทำการอัลตราซาวด์ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 2551 จนยืนยันแล้วว่าพังสาวตั้งท้องด้วยการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็งเป็น รายแรกของโลก โดยความสำเเร็จครั้งนี้จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤศจิกายนหน้า
สำหรับ "พังสาว" มีกำหนดคลอดประมาณเดือนสิงหาคม 2552 โดยหลังจากตั้งท้องปางช้างแม่สา ได้ให้พักงานและจัดทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ที่ปรึกษาโครงการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามของทีมวิจัยของไทยในการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับกับสถานการณ์ช้างในปัจจุบันที่ประชากรช้างไทยลดน้อยลง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากช้างพ่อพันธ์แม่พันธ์อยู่กันคนละพื้นที่ทำให้มีอุปสรรคในการเดินทาง
สำหรับการผสมเทียมช้างทั้งการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อสดหรือน้ำเชื้อแช่แข็ง มีข้อดีหลายประการ โดยในการผสมเทียมจะมีความแม่นยำและชัดเจนมากกว่าการผสมตามธรรมชาติ เนื่องจากมีขั้นตอนการติดตามช้างเพศเมียในเรื่องความพร้อม ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การวัดระดับฮอร์โมนไปจนถึงวันตกไข่ซึ่งเป็น ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 วัน ขณะที่ช้างเพศผู้จะมีการรีดน้ำเชื้อมาตรวจสอบถึงความสมบูรณ์ของน้ำเชื้อ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความสมบูรณ์พันธ์ของทั้งสองฝ่าย
นางอัญชลี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการผสมพันธ์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรช้างต้องพบกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการผสมพันธ์กันเองในฝูงทำให้เกิดสายพันธ์ด้อยเป็นลูกโซ่ แต่หากต้องการให้ผสมพันธ์ข้ามฝูงเพื่อลดปัญหาสายพันธ์ด้อย อาจต้องนำช้างพ่อพันธ์แม่พันธ์ไปพบกันซึ่งอาจเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร การผสมเทียมช้างจึงช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้น้ำเชื้อช้างแช่แข็งยังช่วยในการเก็บสายพันธ์ชั้นดีของช้างไว้ได้นานเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 50 ปี แม้ช้างเชือกนั้นจะตายไปแล้วก็ยังสามารถนำนำเชื้อมาใช้ได้ โดยในอนาคตอาจตั้งเป็น ธนาคารน้ำเชื้อช้าง เพื่อเก็บรวบรวมความหลากหลายทางพันธุกรรมช้างซึ่งจะสามารถนำน้ำเชื้อช้างออก มาใช้ได้เพื่อการเพิ่มประชากรได้ตลอดเวลา
สำหรับความสำเร็จของการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งของไทยครั้งนี้ นอกจากจะเป็น ทางออกในการอนุรักษ์ช้างไทยแล้ว องค์ความรู้ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้กับช้างทั่วโลก ทั้ง สายพันธ์เอเซียและสายพันธ์แอฟริกา ซึ่งมั่นใจว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะสร้างความตื่นตัวให้กับองค์กรอนุรักษ์ช้าง ทั่วโลกในการอนุรักษ์และขยายพันธ์ช้างได้เป็นอย่างดี