ดีเอสไอฟ้องประชัยถ่ายเทเงินจากบ.TPIสูญ1.3หมื่นล.


ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ และโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีการเงินการธนาคาร

ได้นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 76/2549 กรณีนาย ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลป์ จำกัด (มหาชน)   หรือทีพีไอ กับพวก ถ่ายเทเงินจากบริษัทด้วยการปล่อยกู้เงินจำนวน 13,000 ล้านบาท
ให้กับบริษัทในกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 
          
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า คดีนี้ บริษัททีพีไอ หรือบริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) โดย พล.อ.มงคล   อัมพรพิสิฏฐ์ และ นายปกรณ์   มาลากุล ณ อยุธยา เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายประชัย นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์   นายประมวล   เลี่ยวไพรัตน์   นายชัยณรงค์   แต้ไพสิฐพงษ์   และ นายประหยัด   เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 1-5

เนื่องจากตรวจสอบพบว่า ระหว่างปี 2538-2543 ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1-4 เป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัททีพีไอ มีพฤติการณ์ ถ่ายเทเงินด้วยการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มบริษัทที่พวกตนเองร่วมเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย บริษัทพรชัยวิสาหกิจ   จำกัด บริษัททีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัททีพีไออีโออีจี   จำกัด และบริษัทโรงงานฝ้ายสระบุรี จำกัด

ต่อมามีการทำเอกสารระบุว่า บ.พรชัยวิสาหกิจ บ.ทีพีไอโฮลดิ้ง และบ.ทีพีไออีโออีจี ได้ซื้อหุ้นของบริษัทเลียวไพรัตน์ วิสาหกิจ ในราคาหุ้นละ 5,500 บาท จนเป็นเหตุทำให้บริษัททั้ง 3 แห่งซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้ของบริษัททีพีไอมีหนี้สินล้นพ้นตัว ความสามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง จนทำให้บริษัททีพีไอได้รับความเสียหายถึง 13,000 ล้านบาท 
        
โฆษกดีเอสไอ ระบุด้วยว่า กลุ่มอดีตผู้บริหารบริษัททีพีไอควรบริหารบริษัทด้วยความซื่อสัตย์ แต่กลับกระทำโดยขาดความระมัดระวัง และมีการลงบัญชีไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล   กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  

เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล   กระทำหรือยินยอมให้กระทำการเปลี่ยนแปลงบัญชีเอกสาร และ   ทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใดๆเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ   ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

  ดีเอสไอจึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดตามมาตรา 307 และมาตรา 311 และ 312 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และฟ้องผู้ต้องหาที่ 5 ฐาน กระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการหรือผู้จัดการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลให้กระทำความผิด

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์