ธุรกิจโรงรับจำนำกลับมาอู้ฟู่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบัน

จากการสอบถามผู้ประกอบการทั่วประเทศ 800 ราย ระหว่างวันที่ 7-15 ต.ค. 51 ว่า ธุรกิจที่เป็นดาวเด่นและเติบโตได้ดีในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันดับแรกคือ ธุรกิจโรงรับจำนำ ที่คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นมาก เพราะขณะที่เศรษฐกิจไม่ดีจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมีจำกัด และประชาชนจะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ลำบาก จึงต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนจากโรงรับจำนำมาใช้จ่ายแทน
 

“เชื่อว่า ปีหน้ากลุ่มธุรกิจโรงรับจำนำจะมีโอกาสขยายตัวได้สูง เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะมีลูกค้าใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยให้โรงจำนำมีทางเลือกรับสินค้ามากขึ้น และสามารถตีราคารับจำนำได้ต่ำกว่าสถานการณ์ทั่วไป เพราะหากลูกค้าต้องการใช้เงินมากๆ อำนาจการต่อรองกับโรงรับจำนำจะน้อยลง ซึ่งช่วยให้โรงรับจำนำประหยัดต้นทุนในการจำนำ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสนำสินค้าที่หลุดจำนำไปขายได้กำไรมากขึ้น เพราะโรงรับจำนำมีโอกาสคัดเลือกสินค้าคุณภาพได้ รวมทั้งเมื่อรับของมาต้นทุนต่ำเวลานำของหลุดจำนำไปขาย จะมีส่วนต่างกำไรมาก และมีเงินหมุนเวียนคล่องตัว”



ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลดีรองลงมา ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

รวมถึงธุรกิจขนส่ง คมนาคมก็จะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจดาวร่วง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ และนอกประเทศมากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก อันดับแรกคือ โรงแรม/ เกสต์เฮาส์ ภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
 


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจ ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศผู้ประกอบการเป็นห่วงเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองมากที่สุด

รองลงมาคือเศรษฐกิจชะลอตัว และอำนาจซื้อประชาชนลดลง ตามด้วยความล่าช้าของการอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และที่เหลือมาจากความไม่สงบในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ต้นทุนผลิตสูงเมื่อเทียบคู่แข่ง การแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เป็นห่วง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และขีดความสามารถของไทยในต่างประเทศที่ลดลง


ส่วนปัจจัยบวกภายในประเทศที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้งบประมาณการคลังแบบขาดดุล มาตรการกระตุ้นของรัฐ

การยอมรับด้านมาตรฐานผลิตไทยจากตลาดต่างประเทศ และราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยบวกภายนอก มาจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ค่าเงินบาทอ่อน และการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน
 

“ภาคธุรกิจมองการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 51 ขยายตัว 4.5-5% เหลือ 3.5-4.5% แต่ศูนย์ยังคาดการณ์ที่ 4.8% แต่ปีหน้าจะเหลือ 4% สะท้อนว่า เศรษฐกิจปีหน้ายังซึมตัว และอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 1.7-1.8% เป็น 2.2% การบริโภคภายในประเทศขยายตัว 2-2.5% ส่งออกหดตัวเหลือ 8-10% สภาพการเงินอยู่ในภาวะฝืด และสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งรัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการที่จะดูแลสภาพคล่องของธุรกิจขนาดเล็กและระดับครัวเรือนให้มากขึ้น” 


ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและกำไรลดลง สวนทางกับต้นทุนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน การจ้างแรงงานใหม่จะน้อยลงตามด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในประเทศ ยอมรับว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนธุรกิจส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบในปีหน้า และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางปี และหากการเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลาย และนโยบายแก้ปัญหาวิกฤติการเงินสหรัฐฯรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการของรัฐบาล ที่เพิ่งออกเมื่อต้นสัปดาห์ ไม่ได้ผล ปัญหาเศรษฐกิจจะแรงขึ้นแน่.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์