สำหรับประวัติของปู่เย็นนั้น เป็นชาวเพชรบุรี นับถือศาสนาอิสลาม
บิดาชื่อนายสุข แก้วมณี มารดาชื่อนางชม แก้วมณี ตามทะเบียนราษฎร์ปู่เย็นอาศัยอยู่ตามทะเบียนราษฎรเลขที่ 274/4 ถ.มาตยาวงศ์ ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี แต่เดิมปู่เย็นประกอบอาชีพรับจ้างเลี้ยงวัว ซึ่งหากนับอายุตามหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ปู่เย็นจะมีอายุ 89 ปี แต่ปู่เย็นเคยบอกไว้ว่า ตนเกิดปีฉลู ซึ่งตรงกับปีพ.ศ.2443 จึงทำให้ขณะนี้อายุ 108 ปี
ด้านชีวิตครอบครัว
ปู่เย็นแต่งงานอยู่กินกับ "ย่าเอิบ แก้วมณี" ชาวไทยพุทธแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่มีฝ่ายใดได้เปลี่ยนศาสนา ซึ่งทั้งสองครองรักกันยืนยาว แต่ปู่เย็นไม่มีลูก เพราะปู่เย็นเป็นหมัน จะมีก็แต่บุตรสาวบุญธรรม 2 คน ซึ่งเมื่อเติบใหญ่ก็แยกย้ายไปมีครอบครัวของตน จากนั้น ย่าเอิบก็ล้มป่วย และเสียชีวิตในวัย 94 ปี ตอนนั้นปู่เย็นร้องไห้กับการจากไปของย่าเอิบเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน และนับจากวันที่ย่าเอิบจากไป ปู่เย็นก็ออกจากบ้านเช่าราคาเดือนละ 800 บาท ขนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้น มาอยู่บนเรือลำเล็กๆ ล่องอยู่บนแม่น้ำเพชรบุรี นับตั้งแต่นั้น
ทั้งนี้ ปู่เย็นใช้ชีวิตอยู่บนเรือมา 10 กว่าปี เลี้ยงชีวิตด้วยการดักอวนหาปลา เหลือกินก็ขายถูกๆ ไม่ต้องมีตาชั่ง 20 30 บาท ปู่ก็ขายแลกเงินเพื่อประทังชีพ โดยไม่นึกว่าจะต้องพึ่งใคร ทั้งๆ ที่ปู่เย็นเองก็มีญาติสนิทมิตรสหาย แต่ปู่เย็นให้เหตุผลง่ายๆ ว่า "เกรงใจเขา" ที่สำคัญปู่เย็นไม่ชอบให้ใครสงสาร แต่ปู่เย็นชอบสงสารคนอื่น
ประวัติปู่เย็น เฒ่าทรนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี
จนกระทั่งวันวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2548
ปู่เย็นได้เข้ารับเรือพระราชทานต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรือกว้าง 1 เมตร ยาว 6 เมตร มีประทุนหลังคากันแดดกันฝน ด้านครึ่งเรือตอนท้ายจะมีผ้ามุ้งสำหรับกันยุง สำหรับตัวเรือจะเป็นเนื้อไฟเบอร์กลาสตลอดทั้งลำ มีน้ำหนักเบาสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำตื้นได้ สร้างความตื้นตันใจแก่ปู่เย็นเป็นอย่างมาก โดยถึงกับพรั่งพรูคำพูดซื่อที่ออกมาจากใจของปู่เย็นด้วยถ้อยความดังนี้
"รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ใจดี สงสารคนแก่ ขอพระอัลเลาะห์จงคุ้มครองให้พระองค์อายุยืนกว่าผมหลายเท่า เรือพระราชทานสวยมาก จะเอาไปผูกไว้ที่ท่าโรงหม้อซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานลำไย ประมาณ 30 เมตร ใช้เป็นที่หลับนอนในเวลาที่อยากพักผ่อน แต่การจับปลายังจะใช้เรือลำเก่าเพราะขึ้นลงในขณะหาปลาสะดวกกว่า เคยบอกว่าอยากได้เครื่องยนต์มาใส่ท้ายเรือเพื่อจะขับไปต่างที่ได้ แต่หลายคนไม่เชื่อว่าขับเรือได้ ถึงขับได้ก็เป็นห่วงว่าจะเกิดอันตราย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเรือลำเก่าก็เคยใส่เครื่องยนต์ แต่เครื่องพังไปนานแล้ว ถ้ามีก็ขับได้แต่ไม่เรียกร้อง เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่าเรื่องมาก"
จากนั้น ทางจังหวัดเพชรบุรีได้คัดเลือกให้ปู่เย็นเป็นผู้สูงอายุดีเด่นประจำปี 2548 รวมถึงได้มอบ ให้ปู่เย็นเป็น "พรีเซ็นเตอร์ท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี" อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นมา ปู่เย็นก็ใช้ชีวิตตามแบบฉบับดั่งเดิมที่เคยเป็น โดยอาศัยอยู่ในเรือพระราชทาน และออกเรือไปหาปลามาประทังชีวิต แม้ว่าจะมีผู้คนมาบริจาคเงินให้ หรือแม้ว่าทางจังหวัดจะให้เงินเดือน แต่ปู่เย็นมักจะปฎิเสธ ด้วยเหตุผลว่า "เกรงใจมัน ชีวิตคนเหมือนสะพาน มีขึ้น มีลง มีสูง มีต่ำ พอสุดท้ายก็ตาย"
ปู่เย็น ได้กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ ภายหลังหลังรายการ “คนค้นฅน” ได้นำเสนอเรื่องราวของ เฒ่าทรนง ไปในคืนวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 และอีก 2 ตอนต่อมา ซึ่งทำให้ชื่อของผู้เฒ่าแห่งลุ่มน้ำเพชรได้กลายเป็นที่รู้จักทันทีด้วยวิถีปฏิบัติที่เรียบง่าย พอเพียง และทระนง จนกระทั่งกลายเป็นที่สนใจของคนมากมาย และมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาเยี่ยมเยียนอยู่อย่างไม่ขาดสาย