แดง ปั้นสุวรรณ ชาวบ้าน ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี วัย 53 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่อาศัยวิกฤติจากน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ลพบุรี มาสร้างโอกาสด้วยการออกหาปลามาขาย บอกว่า
ครอบครัวของตนและเพื่อนออกหาปลาด้วยการดักข่ายในช่วงน้ำท่วม 7-8 วันมานี้ ในแต่ละวันจะได้ปลาเนื้ออ่อน และปลาเค้าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องเพราะใช้ตาข่ายตาห่างกว่า 10 ซม.จับเฉพาะปลาใหญ่ ปลาที่ได้ทั้งหมดนำไปขายที่หัวสะพานบ้านกล้วย มีคนสัญจรไปมาแวะซื้อกัน ทำให้มีรายได้พิเศษตกวันละ 700-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละวันด้วย
ด้าน จำเนียร จำเนียรศิลป์ อายุ 36 ปี จาก ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี อีกคนหนึ่งที่จับปลาขายในช่วงน้ำท่วม กล่าวว่า พอน้ำเริ่มท่วมในเขต อ.เมือง และ อ.บ้านหมี่ ก็ออกหาปลาตอนแรกคิดจะหามากินกันในครอบครัว
ปรากฏว่าในแต่ละวันหาได้มาก โดยเฉพาะปลาช่อนตกวันละกว่า 10 กก.เป็นปลาช่อนขนาด 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 50-80 บาท ในแต่ละวันมีรายได้ 700-900 บาท ขณะที่ จุลัยรัตน์ รักอ่อน หญิงวัย 29 ปี จากหมู่ 5 ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ พาครอบครัวไปหาปลาและรับซื้อปลาด้วย บอกว่า พอน้ำเริ่มขึ้น ที่นาจมน้ำ ตนและสามีรวมถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ต่างออกมาหาปลาในคลองชลประทานเป็นอาทิตย์แล้ว โดยใช้เครื่องมือทั้งตาข่ายและยอ ส่วนใหญ่ปลาที่ได้มาเป็นปลาเค้าขนาดตัวละ 2 กก. ขายในราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท ปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาแดง ขายในราคากิโลกรัมละ 130-150 บาท ปลาเทโพ ปลาเทพา และปลาลึง ขายกิโลกรัมละ 70-100 บาท ปลาหมู กิโลกรัมละ 100 บาท ปลาลิ้นหมา กิโลกรัมละ 80-100 บาทส่วนปลาช่อนนั้นราคากิโลกรัมละ 50-80 บาท ปลาตะเพียน กิโลกรัมละ 25 บาท ปลาสร้อย กิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนกบนา กิโลกรัมละ 70-80 บาท
"ลำพังการหาปลาเองได้ไม่มากเท่าไร ต้องรับซื้อจากชาวบ้านด้วย แล้วขายต่อ ที่สะพานบ้านกล้วย ในแต่ละวันจะได้เป็นกำไรจากการขายปลา ตกวันละ 1,500-2,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดี ส่วนชาวบ้านมาขายบางคนก็ได้เยอะเป็นพันๆ บาท บางคนก็ได้น้อย แต่ที่เห็นก็ 400-500 บาทขึ้นไป" จุลัยรัตน์กล่าว
นับเป็นอาชีพเสริมเฉพาะฤดูกาลอีกอาชีพหนึ่งของชาวลพบุรี ที่สามารถพลิกวิกฤติน้ำท่วมมาเป็นโอกาส หารายได้ให้แก่ครอบครับ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นานนัก แต่อย่างน้อยก็พอมีเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ระดับหนึ่ง