กรุงเทพธุรกิจ
อ.เมือง อ.บ้านหมี่ ยังจม กรมชลฯ ชี้หนักสุดรอบ30ปี ปภ.โคราชสรุปน้ำท่วม 6อำเภอ เสียกว่า30ล้าน ตายเพิ่มรวม3 อุบลฯท่วม6อำเภอ เตือน13จว.อีสานท่วมฉับพลัน
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เมื่อเวลา 09.00 น. ทางจังหวัดและหน่วยทหาร ได้ขึ้นเครื่องบินสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะ อ.บ้านหมี่ และ อ.เมืองลพบุรี ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำมีอยู่เป็นจำนวนมากเต็มพื้นที่ไปหมด และยังพบว่า หลายหมู่บ้านใน อ.บ้านหมี่ ทั้งตำบลหนองเมือง ตำบลหนองทรายขาว ตำบลบ้านกล้วยบ้านทราย ยังจมอยู่ใต้น้ำ การสัญจรไปมาต้องใช้เรือในการเดินทางเพียงอย่างเดียว
ขณะที่คลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ระดับน้ำตั้งแต่จังหวัดชัยนาทเรื่อยๆลงมาจนถึงยังหวัดลพบุรีมีหลายจุดที่ระดับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านอย่างหนัก ส่วนพื้นที่การเกษตรอย่างนาข้าวในอำเภอบ้านหมี่ถูกน้ำท่วมเสียหายไปแล้วกว่า 1 แสนไล่
สำหรับความเสียหายของพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอเมืองลพบุรี บ้านหมี่ โคกสำโรง หนองม่วง สระโบสถ์ โคกเจริญ ลำสนธิ ชัยบาดาล พื้นที่เสียหาย 65 ตำบล 530 หมู่บ้าน โดยระดับที่ท่วมสูงอยู่ที่อำเภอบ้านหมี่ในตำบลหนองเมืองและตำบลหนองทรายขาว พุคา มีระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร
ล่าสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานถุงยังชีพ เป็นเครื่องอุปโภค-บริโภค ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำไปมอบช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดลพบุรี โดย นายอดิสร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ณ พร้อมคณะนำไปมอบใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.โคกสำโรง และ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี รวม 3,000 ครัวเรือน
ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัตน์นำถุงยังชีพกว่า 2 พันชุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม โดย พลอากาศเอกทรงศักดิ์ ตะวันแจ้ง ผู้แทนพระองค์ฯ นำมอบให้ราษฎรในพื้นที่ อ.โคกสำโรง อ.บ้านหมี่ อ.เมืองลพบุรี
ปภ.โคราช สรุปอุทกภัย 6อำเภอเสียหายกว่า 30 ล้าน
โคราชตายเพิ่มอีก 1 รวมเป็น 3
นางปิยะฉัตร อินสว่าง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยระยะวันที่ 12-15 ก.ย. ว่าจากพื้นที่ 32 อำเภอมีพื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ปากช่อง ปักธงชัย วังน้ำเขียว โชคชัย และสีคิ้ว มี 16 ตำบล 118 หมู่บ้านที่ประสบภัย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,045 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย
ส่วนความเสียหายด้านทรัพย์สิน พื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 800 ไร่ ศาสนาสถาน 1แห่ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 30 ล้านบาท โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดคือ อ.วังน้ำเขียว ประสบภัย 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,106 คน 640 หลังคาเรือนความเสียหายด้านทรัพย์สิน สิ่งสาธารณประโยชน์ 59 แห่งรวมมูลค่าความเสียหาย 13,774,759 บาท
ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 1 คน พบศพคนจมน้ำเสียชีวิตลอยตามกระแสน้ำในคลองส่งน้ำธรรมชาติภายในหมู่บ้านพุดซา หมู่ 2 ต.พะเนา อ.เมืองนครราชสีมา ตรวจสอบสภาพศพเป็นชายไทยวัยกลางคน ทราบชื่อคือ นายสุเทพ ชาวไร่ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58หมู่ 9 ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 36 ชั่วโมง
พิจิตรระดมเรือท้องแบน ตาย 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดน้ำป่าไหลหลากมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ได้ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านพรหม หมู่ที่ 5 ตำบลภูมิ อำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำยังคงท่วมสูง ประมาณ 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร ประชาชนจำนวน 30 หลังคาเรือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไม่สามารถสัญจรไปมาได้นาน 2 วันแล้วเนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมสูง
มีรายงานว่า บริเวณคลองวังแดง เขตตำบลเขาทราย และตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ น้ำไหลเชี่ยวกราก กระแสน้ำป่าพัดร่าง นางกร สุขค่า อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 225 หมู่ 2 ตำบลเขาทราย ขณะจะเข้าบ้านที่มีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ล่าสุด ยังไม่พบร่าง
ชาวบ้านแปดริ้วลอยคอเก็บเกี่ยวพืชผล
นายอภิชาติ ทิมเจริญ นายอำเภอแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่าเหตุน้ำป่าไหลท่วมพื้นที่การเกษตร เป็นนาข้าวหลายพันไร่ จึงได้สั่งให้ทางเทศบาลตำบลแปลงยาว อบต.แปลงยาว และ อบต.หัวสำโรง ทั้ง 3 พื้นที่ ที่ถูกน้ำท่วม ใช้รถแบ็คโฮ ขุดเจาะถนนคันคลองชลประทาน เพื่อระบายน้ำออกจากทุ่งแปลงยาว ลงสู่คลองชลประทาน ทั้ง 3 จุดแล้ว จนทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.แปลงยาว ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งมีพื้นที่นาข้าวเสียหายไปเพียง 850 ไร่ นายอภิชาติ กล่าว
พิษณุโลกเตรียมประกาศ 5อำเภอพื้นที่ภัยพิบัติ
นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกวันที่ 4 ระดับน้ำยังคงทรงตัว เนื่องจากในช่วงค่ำมีฝนตกลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง โดยเวลานี้ได้ทำหนังสือเสนอให้นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ แล้วในพื้นที่ 3 อำเภอ คืออำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอเมืองพิษณุโลก และเตรียมประกาศเพิ่มอีก 2 อำเภอคือ อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอชาติตระการ
ส่วนความเสียหายยังอยู่ระหว่างการสำรวจจากทางอำเภอท้องที่ เบื้องต้นมีรายงานบ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย 2 หลัง ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมจนพักอาศัยภายในบ้านไม่ได้ 500 ครอบครัว ส่วนความพื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว 300-500 ไร่ จากพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด กว่า 40,000 ไร่ มีถนนถูกตัดขาด 6 สาย
อุบลฯท่วม6อำเภอ อุตุฯเตือน13จังหวัดท่วมฉับพลัน
จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศพื้นที่ 6 อำเภอ เป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ได้แก่ เดชอุดม นาตาล โพธิ์ไทร น้ำขุ่น เขมราฐ และตระการพืชผล ส่วนความเสียหาย ด้านการเกษตร นาข้าว จำนวน 930 ไร่ พืชสวน จำนวน 150 ไร่ บ่อปลาได้รับความเสียหาย 16 บ่อ มีถนนได้รับความเสียหาย 32 สาย สะพาน 8 แห่ง ด้านความช่วยเหลือ จังหวัดอุบลราชธานี ได้นำถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประประสบภัยแล้ว จำนวน 450 ชุด
ขณะที่ระดับน้ำมูลที่สถานี M 7 ใต้สะพานเสรีประชาธิปไตย ณ วันที่ 16 กันยายน 2551 อยู่ที่ระดับ 109.25 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.75 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำที่ยังไม่สูงมากแต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนระดับน้ำแม่น้ำโขงอยู่ที่ระดับอยู่ที่ 101.13 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.83 เมตร
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหลายจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบ เช่น จังหวัด เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู สกลนคร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา