เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.ย. รายงานข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคาร เลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์
หลังช่วงเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 15 ก.ย. ตามเวลาในไทย เพื่อยืนยันว่าบริษัทจะยื่นเรื่องขอพิทักษ์ทรัพย์สินภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ หลังจากประสบภาวะล้มละลายหลังขาดทุนเป็นวงเงินมหาศาลจากการเข้าไปลงทุนในตลาดสินเชื่อบ้านของสหรัฐ หรือซับไพร์ม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินโลก เพราะมีธนาคารหลายแห่งทั่วโลกที่เข้าไปทำธุรกรรม ทางการเงินข้องเกี่ยวกับเลห์แมนฯ
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การยื่นพิทักษ์ทรัพย์ของเลห์แมนฯ จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยที่ไปซื้อตราสารหนี้ และตราสารอื่นเล็กน้อย
เนื่องจากเงินที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ มีมูลค่าเพียง 4,300 ล้านบาท ของมูลค่าการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทย เมื่อสิ้นเดือนก.ค.ที่อยู่ระดับ 102,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.3% ของสินทรัพย์รวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทำธุรกรรมนอกงบดุลกับเลห์แมนฯ เช่น อนุพันธ์ต่าง ๆ ประมาณ 5,300 ล้านบาทตามมูลค่าตามสัญญา แต่มูลค่าจริงที่ชำระจะต่ำกว่านี้และถ้าเกิดความเสียหาย จะไม่ถึง 100 ล้านบาท เพราะคิดแต่ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ไม่มีการส่งมอบก่อนกำหนดเท่านั้น
ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิด และรอประกาศอย่างเป็นทางการ
ถ้าเลห์แมนฯ ประกาศล้มละลายต้องดูว่ามีการผ่องถ่ายให้บริษัทลูกทำธุรกรรมอะไรบ้างและมีสถานะเป็นอย่างไร และทรัพย์สินด้อยค่าหรือไม่ หากสินทรัพย์ด้อยค่าธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องกันสำรองตามมาตรฐานบัญชี เพื่อป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าไม่กระทบต่อลูกค้าที่ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทย สำหรับเงินทุนไหลออกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการโยกเงินลงทุนในเอเชียไปลงทุนในทรัพย์สินของสหรัฐมากขึ้น เพื่อช่วยสถาบันการเงินในสหรัฐ
“ปัญหาของเลห์แมน บราเธอร์สยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทยเพียงเล็กน้อย เพราะไม่ได้มีสาขาอยู่ที่ประเทศไทย และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากตลาดมีการคาดการณ์และปรับตัวล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเห็นจากเงินทุนไหลออกและตลาดหุ้นตกต่อเนื่อง และมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินต่างประเทศ”