ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมพลังทางสังคม
เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย โดยนายสมิทธ ธรรมสโรธ ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) บริเวณอ่าวไทย ซึ่งตนออกมาเตือนว่าจะเกิดภัยพิบัติขึ้น แต่นักวิชาการบางท่านเห็นตรงกันข้ามว่า โอกาสเกิดน้อยมากเพียงร้อยละ 0.005 แต่ไม่มีข้อมูลว่าจะไม่เกิด หากเกิดภัยพิบัติขึ้นใครจะออกมารับผิดชอบ ที่ผ่านมาโอกาสจะเกิดสึนามิ 1 ใน 1,000 นักวิชาการบางคนระบุว่า พันเปอร์เซ็นต์จะไม่เกิดก็ยังเกิดมาแล้ว
อยากถามว่า นักวิชาการเคยศึกษากันบ้างหรือไม่ ตนให้ข้อมูลทำให้ประชาชนตกใจ แต่หวังดีอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาชี้แจงกับประชาชนว่า หากเกิดเหตุการณ์จะเตรียมพร้อมอย่างไร
แม้เปอร์เซ็นต์เกิดภัยธรรมชาติจะน้อย แต่ก็เกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากเกิดบริเวณ อ.ปากน้ำ สมุทรปราการ จะอพยพคนอย่างไรให้ทันเหตุการณ์ ยิ่งบ้านที่อยู่ริมฝั่งซึ่งคลื่นพายุจะสูงมากแค่ไหนขึ้นกับความรุนแรงของพายุ ตนยืนยันให้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวด้วยว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา รองโฆษกพรรคชาติไทย ได้ทำหนังสือถึง ผวจ.สมุทรสาคร และอาจส่งถึงจังหวัดอื่นๆรอบปากอ่าวไทย ให้ตนยุติการให้ข่าวสตอร์ม เซิร์จ
จึงอยากฝากถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ว่า หากไม่เห็นความปลอดภัยของประชาชนก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาอิทธิพลทางของนักการเมืองมาข่มขู่ เพราะตนให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรับมือภัยพิบัติ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หลังจากมีข่าวทำให้ผู้ประกอบการจัดสรรที่ดิน สร้างคอนโด ถูกคืนเงินมัดจำ เสียประโยชน์จำนวนมาก ได้โทร.มาต่อว่าตน และไปฟ้องนักการเมืองให้ตนยุติการให้ข่าว เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเลย อย่างไรก็ตาม จะไม่หยุดให้ข้อมูลประชาชน ถ้าอยากให้หยุดพูดคงต้องไปฟ้องศาลปกครองเอง
ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง เชื่อว่าภายใน 10 ปี โอกาสที่จะเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีประมาณ 2% จะมีคลื่นสูงประมาณ 2-4 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง
แต่โอกาสจะเกิดคลื่นสูงถึง 6 เมตร คงจะมีน้อย เพราะต้องขึ้นอยู่กับความแรงของพายุ และภายใน 15 ปี กรุงเทพฯและปริมณฑลจะต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมเมืองอย่างแน่นอน เนื่องจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูงเข้าท่วมเมือง โดยแนวทางป้องกันคลื่นพายุซัดฝั่ง รัฐบาลต้องสร้างเขื่อนบริเวณปากอ่าวไทยเพื่อกั้นน้ำเค็มกับน้ำจืด และควรสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยความไม่ประมาท