http://www.yarisme.com/blog.php?u=one2go&md=post&id=1254
ก่อนหน้านี้ทางผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาเตือนว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ อาจจะมีพายุขนาดใหญ่พัดถล่มด้านอ่าวไทยไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เพชรบุรี ทำให้เกิด "สตร์อม เซิร์จ" (Storm Surge) เป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ไหลทะลักเข้ามาถึงบริเวณปากอ่าวเจ้าพระยา เข้าท่วมขังพื้นที่ กทม. และกว่าจะไหลย้อนกลับสู่ทะเลต้องใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์
"สตร์อม เซิร์จ" (Storm Surge) คืออะไร
น.อ.กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ อธิบายว่า สตอร์ม เซิร์จ คือ คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือระดับน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้น จากการเคลื่อนตัวเข้ามาของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงของพายุหมุน หรือมวลน้ำที่ยกระดับสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรือคือพายุหมุนโซนร้อน เคลื่อนตัวผ่านเข้าไปในบริเวณนั้นๆ
การเกิดพายุหมุนโซนร้อนมี 3 สาเหตุ คือ
1.ลมแรงมากบวกคลื่นในทะเลสูงมาก
2.ความกดอากาศต่ำอย่างรุนแรงที่ศูนย์กลางของพายุ
3.ฝนตกหนักเกิดการเคลื่อนตัวของน้ำจากทะเล
ส่วนตัวการที่ทำให้เกิดความเสียหายจากสตอร์ม เซิร์จ น.อ.กตัญญูอธิบายว่า
1.ลมแรงจากพายุ
2.คลื่นสูง
3.ระดับผิวหน้าน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้นจากปกติ
ถ้าพื้นที่ชายฝั่งเป็นบริเวณน้ำลึกน้ำทะเลก็สามารถกระจายออกไปได้ โดยน้ำจะสูงขึ้นอย่างช้าๆ แต่ถ้าบริเวณชายฝั่งเป็นที่ตื้น น้ำทะเลไม่สามารถจะกระจายออกไปทางไหนได้ น้ำจะสูงขึ้น และการกระจายตัวของมวลน้ำก็ขึ้นมาบวกความรุนแรงของพายุหมุนโซนร้อน
ย้อนอดีตมหันตภัย Storm surge
หากลองนึกภาพเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอดีต แน่นอนว่า ภาพของเหตุการณ์ไล่ตั้งแต่พายุแฮเรียต ในปีพ.ศ.2505 ที่ซัดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช จนราบเป็นหน้ากลอง ถัดมาในปี พ.ศ.2532 มหาวิบัติพายุเกย์ ก็สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ชาวบ้านหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร จนมาถึงช่วงปี พ.ศ.2540 พายุลินดา ก็ซัดซ้ำรอยเดิมใน จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี
เหตุการณ์ทั้งหมดคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายคน กระทั่งล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านก็เกิดเหตุพิบัติภัยจากพายุนาร์กีสที่ถล่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จนสร้างความเสียหายเกินคณานับ ซึ่งภาพเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมานี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าล้วนแล้วเกิดขึ้นจากความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าหาชายฝั่งในลักษณะที่เรียกว่า ‘Storm surge’
ความเหมือน-ความต่างของ สตร์อมเซิร์จ กับ สึนามิ
นาวาเอก กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ชี้แจงว่า สิ่งที่คล้ายกัน คือ รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่แล้วพัดเข้าชายฝั่ง แต่ที่แตกต่างกัน คือ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ
แล้วอันไหนร้ายแรงกว่ากัน!?
ความเสียหายนั้น คิดว่า Storm surge จะเลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วนไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
อาจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ศูนย์พิบัติภัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สตอร์ม เซิร์จ มีระดับความรุนแรงแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ถ้าระดับ 4 เหมือนกับพายุนาร์กีส ที่ถล่มประเทศพม่า เป็นสตอร์ม เซิร์จ มีความเร็วลม 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมือนกับเอาน้ำที่มีขนาดใหญ่มากสาดไปอย่างแรงมันก็พังหมด
เขตพื้นที่เสี่ยง
อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า จุดอันตรายที่สุดที่อยากเตือน คือ จ.เพชรบุรี ไปถึง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา จะเกิดบ่อยที่สุด รองมาคือ กทม.โอกาสเกิดน้อยกว่า แต่ก็มีโอกาสเกิดได้
ต.ค.-พ.ย.-ธ.ค. 3 เดือนอันตราย
รศ.อัปสรสุดา ศิริพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ระยะเสี่ยงการเกิดพายุจะอยู่ที่ 3 เดือนอันตราย เพราะจากสถิติการเกิดพายุหมุนโซนร้อนที่ขึ้นทางฝั่งอ่าวไทยนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนตุลาคม พายุจะก่อตัวทางตอนใต้ของปลายแหลมญวนทางเขมร และเมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนลงจากแหลมญวนจนเคลื่อนสู่อ่าวไทย ไปตลอดจนถึงเดือนธันวาคมพายุจึงจะสลายไปในที่สุด
แนวทางป้องกันและรับมือ สตร์อมเซิร์จ
การป้องกันคลื่นพายุหมุนทางวิชาการยังมีการศึกษาถึงวิธีการป้องกันด้วยการใช้โครงสร้าง แยกเป็นโครงสร้างป้องกันนอกชายฝั่ง สร้างกำแพงป้องกันคลื่น สร้างหออพยพป้องกันพายุ มาตรการอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล การปลูกป่าชายเลน แนวปะการังต่างก็เป็นแนวกำบังป้องกันทางธรรมชาติที่สำคัญ ฯลฯ
“วิธีการป้องกันมีอยู่หลายแนวทางทั้งการสร้างกำแพงป้องกันแต่ก็ไม่ควรนำมาใช้กับบ้านเรา และอาจจะเป็นการสูญเงินอย่างมหาศาล ทางออกที่ดีที่สุดคือการช่วยกันรักษาป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง หรือปลูกป่าชายเลนเพิ่มในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดความรุนแรงได้ อีกทั้งควรกำหนดเป็นหลักสูตรในเรื่องของภัยพิบัติลงในแบบเรียนเพราะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความตื่นตัว จึงต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น และต้องมีการซ้อมแผนเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวเกิดขึ้นจริงจะได้ช่วยลดความเสียหายจากชีวิตและทรัพย์สินได้” รศ.อัปสรสุดา ทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ,หนังสือพิมพ์ข่าวสด ,หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ