โจ๋ เมืองรถม้าน่าห่วงพฤติกรรมเสี่ยง

ท้อง-ทำแท้ง-ฆ่าตัวตายสถิติสูง วอนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแก้ปัญหา


จากรายงานการวิจัยโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนของจังหวัดลำปางปี  2549-2550 พบว่าด้านการมีเพศสัมพันธ์เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 5.5 และระดับอาชีว ศึกษาร้อยละ 29.2 โดยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ยชาย 13 ปี หญิง 12 ปี กับแฟนหรือคนรัก และใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 30% เท่านั้น ด้านความพร้อมที่จะมีบุตรมีเยาวชนที่มาทำแท้งในเขตอำเภอเมืองลำปางสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 10-24 ปี มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมายสูงกว่า 140 ราย เด็กอายุ 15-19 ปีมาคลอดในโรงพยาบาลในปี 2550 สูงถึง 750 ราย
 
ในเรื่องนี้ นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผย ว่า เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นจากการ สัมภาษณ์กลุ่มเด็กวัยรุ่นอำเภอเมืองและเถิน

โดยโครงการเสริมสร้างการเข้าถึงข้อมูลการให้คำปรึก ษาและบริการอนามัยเจริญพันธุ์    ปี 2551 จะเห็นว่า  วัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและอาชีวศึกษาทั้งเพศชายและหญิงส่วนหนึ่งเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว วัยรุ่นมีค่านิยมการมีคู่นอนหลายคนโดยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้กับแฟนกับกิ๊ก และกับเพื่อนหรือค่านิยมล่าแต้มในเด็กวัยรุ่นหญิง
 
เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยโดยตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก ความไว้วางใจเด็กวัยรุ่นหญิงไม่กล้าต่อรองฝ่ายชายหรือฝ่ายชายปฏิเสธการใช้ถุงยางอนามัย

ในกรณีเด็กวัยรุ่นที่ใช้ถุงยางอนามัยพบว่าจะใช้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ระยะแรกแต่ระยะต่อมาจะเลิกใช้ เพราะเชื่อว่าคู่นอนของตนปลอดภัยหรือเป็นแฟนกันแล้วกอปรกับบางส่วนมีความเชื่อว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะลดความสุขทางเพศลงและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติรวมทั้งยังพบว่า มีเด็กวัยรุ่นหญิงเคยทำแท้งด้วยตนเองโดยในระยะแรกจะพยายามหายาหรืออุปกรณ์ในการทำแท้งเบื้องต้นก่อนหากไม่สำเร็จ บางคนก็ไปทำแท้งที่สถานบริการต่าง ๆ หรือบางคนปล่อยให้ตั้งครรภ์จนคลอด สำหรับวัยรุ่นระดับอาชีวศึกษา บางส่วนมีการอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาตามหอพัก    ต่าง ๆ ภายนอกวิทยาลัยโดยเฉพาะวัยรุ่นที่มาจากต่างพื้นที่ อีกทั้งวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเที่ยวกลางคืนและดื่มสุราพบว่า เด็กวัยรุ่นมัธยมต้นมักรู้จักพนัก งานเสิร์ฟ หรือยืมบัตรประจำตัวของคนอื่นเพื่อให้สามารถเข้าสถานเริงรมย์ได้


นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวต่อไปอีกว่า เหตุที่มีพฤติ กรรมนี้เพราะอยากลองตามเพื่อนได้รู้จักเพื่อนใหม่ บางส่วนมีปัญหาขาดความอบ อุ่นในครอบครัว ส่วนวัยรุ่นระดับอาชีวศึกษา บางคนทำงานตอนกลางคืนเพื่อหารายได้พิเศษ

เช่น เป็นสาวเชียร์เบียร์พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร เป็นต้นนอกจากนี้ยังพบว่าบรรยากาศมีส่วนผลักดันให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นระดับมัธยมต้น มักเกิดขึ้นในเวลาที่หญิงชายอยู่กันสอง ต่อสองในที่ลับตาคน เช่น เขื่อนน้ำตกป่าและสวนสาธารณะในตอนกลางคืนในขณะที่วัยรุ่นระดับอาชีวศึกษาส่วนใหญ่กล่าวว่า การอาศัยอยู่ตามหอพักหรือบ้านเช่ามีโอกาสเกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ได้ส่งผลให้วัยรุ่นส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับปัญหาทั้งอกหัก ตั้งครรภ์ ติดยาเสพติด ติดเชื้อเอดส์ ไม่สมหวังในการเรียน โดนพ่อแม่หรือผู้ปกครองตำหนิ ฯลฯ และไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม จึงหาทางออกด้วยการทำร้ายตนเองดังจะเห็นได้จากข่าวสื่อมวลชนต่าง ๆ จาก ข้อมูลปัญหาการทำร้ายตนเองของคน ลำปางในปี งบประมาณ  2550 พบว่าส่วนใหญ่ทำ ร้ายตนเองครั้งแรก ร้อยละ 83.78 หากพิจารณา

สาเหตุการทำร้ายตนเองส่วนใหญ่เกิดจากน้อยใจคนใกล้ชิดร้อยละ 26.58 รองลงมาคือ ทะเลาะกับคนใกล้ชิดร้อยละ 25.23 และผิดหวังความรัก   ร้อยละ 19.82 ซึ่งเป็นปัญหาด้านอารมณ์ โดยสาเหตุดังกล่าวนี้เป็นผลมาจาก การขาดทักษะการจัดการกับตนเองที่เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ดังนั้นการพัฒนาทักษะชีวิต   ของกลุ่มเป้าหมายโดยการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตจึงมีความจำเป็นยิ่ง
 
โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางได้นำเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตแก่เยาวชน เพื่อป้องกันปัญหาทางเพศและอารมณ์

ประกอบกับการอบรมเพิ่มทักษะให้แกนนำเยาวชน สามารถให้การปรึกษาเพื่อนวัยรุ่นที่ทุกข์ใจได้ ซึ่งได้ผสมผสานการดำเนินงานร่วมกับมุมเพื่อนใจวัยรุ่นในสถานศึกษา และสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือนักเรียนผู้ทุกข์ใจ โดยผ่านครูที่ปรึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองโดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นเครือข่ายการสนับสนุนซึ่งคาดว่าหากทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนได้
 
ทางด้านนายมานพ ดีมี ผอ.สพท. เขต 1 ลำปาง กล่าวว่า ในส่วนของสถานศึกษานั้น ทางกระทรวงมีนโยบาย อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ในการดูแลเด็ก ในการเรียนการสอนก็มีหลักสูตรที่ให้ทั้งข้อคิด สอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ฝึกทักษะให้เด็กได้มีความคิดเป็นของตนเองแยกแยะผิดถูกได้ และมีการป้องกันทุกวิถีทาง แต่ทั้งนี้ สังคมเราทุกวันนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก การสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้เด็กได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกไม่ควร ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถแยกแยะได้ โดยนำเอาตัวอย่างหรือวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกไม่ควรมาใช้กับสังคมของเรา จึงทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา ซึ่งในเรื่องนี้ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยเหลือกันเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว จะต้องดูแลบุตรหลานให้ได้รับความอบอุ่น ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยปละละเลย ส่วนสถานศึกษานั้นก็คงต้องเข้มงวดกันต่อไป โดยเฉพาะสื่อต่าง ๆ อยากฝากว่าให้ช่วยกันนำเสนอสิ่งที่ดี ๆ ให้มากขึ้น เพื่อจรรโลงสังคมของเราต่อไป.

อัคเรศ  ลำปาง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์