เมื่อวันที่ 31 ก.ค. โดยที่ชั้น 10 ตึก สก.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ แถลงข่าวความสำเร็จการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จากผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งเป็นพ่อให้แก่ผู้ป่วยเด็ก ซึ่งเป็นลูกและมีอายุเพียง 7 เดือนครึ่ง
รพ.จุฬาฯประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายและผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนตับมีการทำมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้ปลูกถ่ายและเปลี่ยนตับ ให้แก่ คนไข้ไปแล้วประมาณ 110 ราย ทั้งจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตและผู้บริจาคที่มีชีวิต ส่วนรายล่าสุดที่ทำการผ่าตัดสำเร็จครั้งนี้ ถือเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ผู้รับการปลูกถ่ายมีอายุน้อยที่สุดเพียง 7 เดือนครึ่ง และเป็นรายแรกที่ผู้บริจาคตับเป็นพ่อแท้ๆที่ยังมีชีวิตอยู่
รศ.นพ.อดิศรกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กชาย อายุ 7 เดือนครึ่ง จากประวัติการตรวจรักษาพบว่า มารดาเป็นพาหะของภาวะการขาด G6PD หรือภาวะพร่องเอนไซม์ของเม็ดโลหิตแดง
ทำให้เม็ดโลหิตแดงเปราะ เด็กมารับการตรวจที่ รพ.จุฬาฯ เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน ประมาณต้นเดือนมกราคม 2551 ด้วยอาการตัวเหลือง ตาขาวมีสีเหลือง อุจจาระสีซีด แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยทำการฉีดสีดูทางเดินของท่อน้ำดี พบว่าท่อน้ำดีไม่ ตีบตัน แต่มีอาการอักเสบของตับ จึงตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและนัดมาฟังผล พบว่าเด็กมีอาการอักเสบของตับตั้งแต่ แรกเกิด โดยไม่ทราบสาเหตุ
ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย.2551 ผู้ป่วยมีอาการไข้และซึมลง คณะแพทย์ลงความเห็นว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จึงได้ตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ ของเลือด
ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย. 2551 ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้ เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
จึงรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในทำการรักษา แต่ขณะที่รอผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ผู้ป่วยเริ่มมีเลือดออกง่าย ตัว ตา เหลืองมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตในเวลาอันสั้น จึงได้ปรึกษากับพ่อแม่ของเด็ก และตรวจร่างกายพบว่า ผู้เป็นพ่อสามารถบริจาคตับให้แก่ลูกได้ เมื่อได้ทำความเข้าใจแล้ว พ่อยินดีที่จะบริจาคตับบางส่วนให้แก่ลูก จึงได้นัดผ่าตัดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. และการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี