กังวลคนไทยตีกัน ป๋าแนะนำ ใช้ภาษาให้เหมาะ

จากปัญหาคนไทยมีความคิดเห็นแตกแยกกันอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่เหตุการณ์น่าสลดที่ จ.อุดรธานี และ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มวลชนสองฝ่ายคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ เปิดฉากตะลุมบอนกันจนเลือดโชก ได้รับบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย รวมถึงตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ยังเจอลูกหลงบาดเจ็บไปด้วยนั้น


ป๋าเปรมชี้คนไทยต้องรู้รักภาษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.ค. ที่ห้องประชุมมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง ภาษาไทย พ.ศ.พอเพียงเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ และได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของเรา และเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดของคนไทย ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องศึกษาภาษาไทยให้แตกฉานเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อใช้ให้ถูกต้องทั้งการออกเสียงและใช้ถ้อยคำ รวมถึงการใช้ภาษาให้ถูกความหมายและถูกกาลเทศะ สิ่งสำคัญที่คนไทยจะต้องดูแลรักษาภาษาไทยไว้ให้เป็นสมบัติมรดกตกทอดไปถึงลูกหลาน เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราได้รักษาและมอบไว้ให้กับเรา มิเช่นนั้นเราควรถูกตำหนิและถูกประณามว่า เราไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเป็นคนไม่รักษาสมบัติอันล้ำค่าของชาติ ในส่วนของการใช้ภาษา มีรูปแบบภาษาที่หลากหลาย เช่น มีภาษาตามสถานภาพของบุคคล มีราชาศัพท์ มีภาษาราชการ ภาษาสุภาพ ภาษาของบุคคลอาชีพต่างๆ มีภาษาทหาร ภาษาพ่อค้า ภาษาการศึกษา ภาษาชาติ ภาษาแพทย์ และมีภาษานักการเมืองด้วย ตนไม่มีความรู้มากพอที่จะชี้ชัดได้ว่าภาษาไทยมีรูปแบบหลากหลายและงดงามที่สุดในโลกหรือไม่ แต่เดาว่าใช่ และจะเห็นได้ว่าเรามีภาษาชาติ เป็นภาษากลางที่สามารถสื่อได้ทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศ ไม่มีความยุ่งยากหรือปัญหาใด


ชี้สังคมเย็นได้ถ้าใช้ภาษาไทยให้เหมาะ

 

พล.อ.เปรมกล่าวอีกว่า ภาษาทำให้คนเข้าใจกัน ชอบกัน รักกัน หรือเกลียดกัน โกรธกัน หรือทำลายล้างกันก็ได้ พวกเราทั้งหลายต้องตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ต้องรักษาภาษาไทยที่บรรพบุรุษมอบมาให้เราอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง รักษาให้เป็นภาษาที่ใช้สนุกและเหมาะสม ใช้ภาษาไทยให้พอเหมาะที่จะทำให้สังคมร่มเย็น ใช้ภาษาสร้างสิ่งดีๆให้สังคม สร้างความรัก ความผูกพันต่อกัน ใช้ภาษาสร้างความภาคภูมิใจในชาติ ใช้ภาษาเพื่อความประนีประนอมกัน ใช้ภาษาเพื่อให้อภัยต่อกัน ใช้ภาษาเพื่อสั่งสอนคนให้เป็นคนเจริญ ใช้ภาษาสอนให้คนซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรมเพื่อความพัฒนาถาวรของชาติ

 

กังวลไม่อยากเห็นไทยแตกแยก

 จากนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มถึงการที่คนไทยควรใช้ภาษาไทยเพื่อลดความรุนแรงและปัญหาของคนในชาติว่า ถ้าต้องการถามเรื่องอุดร ขอไม่ให้ความเห็นดีกว่า เป็นการยากที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงและไม่รู้ว่าเรื่องราวเกิดขึ้นอย่างไร แต่ยอมรับว่ากังวลแน่ เพราะไม่อยากให้แตกแยกกัน

มั่นใจถึงคราวคับขันจะปรองดองกัน

 

เมื่อถามว่า อยากฝากให้คนไทยมีความรักความสามัคคีมากกว่านี้หรือไม่ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ก็ไม่ดีอย่างที่เห็น และต่อข้อซักถามที่ว่า ควรให้คนที่เป็นแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายออกมาช่วยสงบสติหรือไม่ พล.อ.เปรม ก็กล่าวว่า ไม่ค่อยทราบว่าฝ่ายไหนเป็นใคร จึงยากที่จะออกความเห็น ส่วนความหวังที่จะมีความปรองดองในบ้านเมืองนั้น คิดว่าได้แน่ ตนรู้ดีว่าคนไทยเมื่อถึงคราวคับขันถึงคราวที่เราจะต้องร่วมกันเขาจะมาร่วมกันแน่นอน

อานันท์ชี้ ปชต.ไม่คืบเพราะติดรูปแบบ

 

ขณะที่ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มูลนิธิ 14 ตุลา จัดปาฐกถาพิเศษวาระ 35 ปี 14 ตุลา วันสืบสานประชาธิปไตย เรื่อง ทบทวนทิศทางประเทศไทยโดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การมาวันนี้เพื่อประชาชนได้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ไม่ว่าฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้า 1 ที่คนไทยต้องเคารพและเรียนรู้ ในช่วงวันที่ 14 ตุลา 2516 ตนอยู่ต่างประเทศ เป็นทูต อยู่ที่สหประชาชาติ ไม่ได้ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะตอนนั้นไม่มีเอเอสทีวีให้ดู ถัดมาก็มีเหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬตนได้สัมผัสกับคนเดือนตุลาบ้าง จากการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ เป็นที่น่าเสียดายวันนี้ การพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาได้หายไปจากสังคมไทย หลายคนยังยึดถืออุดมการณ์ แต่ที่ผ่านมาอุดมการณ์ก็ยังเป็นแค่ อุดมการณ์ ความหวังก็ยังเป็นแค่ความหวัง อาจมีความคืบหน้าดีๆบ้าง แต่หลักการใหญ่ยังไม่คืบหน้า เราติดอยู่กับแบบฟอร์มประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล แต่จิตวิญญาณ สาระประชาธิปไตยยังไม่ซึมซาบในสังคมไทย หรือซึมก็แต่ในบางแขนง

 

นิติรัฐ-สื่อต้องเป็นเสาหลักค้ำ

 

นายอานันท์กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับเสาหลัก 2 อย่างคือ 1.นิติรัฐ ถือเป็นกลไกที่ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ทางด้านต่างๆ แต่สำคัญที่สุด ความอิสระและความแน่วแน่ ยึดหลักการของตุลาการที่จะทำให้สังคมประชาธิปไตยรอดไปได้ 2. สังคมประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการเป็นสังคมเปิด ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง สังคมที่สื่อมวลชนใช้อำนาจอิสระและความรับผิดชอบในการเสนอข่าวข้อเท็จจริงทุกด้าน สังคมที่สื่อไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐ หรือไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้รัฐ สังคมนั้นต้องโปร่งใส เข้าถึงข่าวสารถูกต้องทันเวลา ซึ่งจะช่วยยืนหยัดประชาธิปไตยต่อไปได้

 

สำหรับเมืองไทยเสาหลักเรื่องนิติรัฐ ผมยังให้คำตอบตอนนี้ไม่ได้ แต่หวังว่าจะได้รับคำตอบในอนาคต ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อที่ไม่อยู่ใต้ภายใต้อาณัติของรัฐ เมืองไทยมีหรือยัง คำตอบคือมีบ้างแล้ว ซึ่งผมต้องยกเครดิตให้สื่อทั้งหลาย อาจไม่ใช่สื่อทั้งหมด เพราะขายตัวไปหลายคนแล้ว แต่สื่ออิสระก็มี ยังยืนสู้ต่ออาจมี 40 เปอร์เซ็นต์ คำถามว่าพอไหม คำตอบคือไม่พอ แต่อย่างน้อยเป็นเสาหลักวางรากไว้ และเริ่มเติบโตแล้วนายอานันท์กล่าว

 

ธีรยุทธชี้สังคมไทยไร้ทางออก

 

ด้านนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็กล่าวปาฐกถาในงานเดียวกันว่า การที่วิกฤติการเมืองไทยขยายตัว เริ่มจากปัญหาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดการรัฐประหาร แต่ปัจจุบันพรรคพลังประชาชนยังดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯขยายตัวไปยังภูมิภาค โดยพันธมิตรฯยกระดับจากกลุ่มต่อต้านเป็นขบวนการทางการเมือง ที่มีพื้นฐานเครือข่าย สื่อเอเอสทีวี จนอยู่ได้ด้วยตนเอง เคลื่อนไหวได้ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ถึงทางตันของการแก้ปัญหา โดยปัญหายุ่งยากขึ้น แต่หนทางและวิถีทางแก้ปัญหาตีบตัน เพราะ 1.สังคมไทยเผชิญภาวะที่สุดแห่งวิกฤติศรัทธา ความชอบธรรมของสถาบันการปกครองต่างๆ ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ภาคการเมือง รัฐสภา รวมถึงสื่อ สถาบันวิชาการก็มีศรัทธาต่ำลง ส่วนกองทัพนั้น อดีตบุคคลชั้นนำก็ไม่ได้รับศรัทธาว่าจะมีบทบาทแก้ปัญหาได้ 2.สังคมไทยขาดเครื่องมือแก้ปัญหา จมอยู่ในภาวะอับจนไร้ทางออกวิธีการต่างๆไม่ได้ผล ทั้งเวทีทางรัฐสภา การยุบสภา การรัฐประหาร

 

อัดสมัครเติมเชื้อไฟลุกลาม

 

นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า 3. อำนาจตุลาการรับภาระหนักมากจนอาจเกิดอาการล้าอาจพาประเทศฟันฝ่า วิกฤติไม่ทัน สภาพปัจจุบันเหมือนกับทุกๆ ฝ่ายผลักภาระ มาให้ศาล จนจะเกิดแรงกดดันต่อสถานภาพความน่าเชื่อถือของศาลขึ้นได้ ศาลควรเร่งพิจารณาคดีคอรัปชันของนักการเมือง ส่วนคดีความที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ศาลควรคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน เพื่อเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด 4. รัฐบาลกระตุ้นสนับสนุนความรุนแรง จากคำพูดก้าวร้าวสร้างศัตรูไปทั่ว นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไม่ควรเติมไฟความรุนแรงด้วยคำพูดเช่น ให้คนของผมลุกขึ้นมาฆ่าบ้าง เพราะว่าถูกฆ่ามาเยอะแล้วเพราะกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มีจำนวนมากและมีอิทธิพล จะทำให้สังคมไทยยิ่งถลำสู่ความรุนแรง

 

มีโอกาสเกิดสงครามกลางเมือง

 

นายธีรยุทธกล่าวว่า ผลจากสภาวะของประเทศที่อยู่ขอบเหวแห่งอนาธิปไตยและความรุนแรง จะทำให้เกิดมิติต่างๆ คือ 1. จะเกิดการเขย่าทางความคิดและนำไปสู่การปฏิรูปความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทย 2. วิกฤติปัจจุบันกำลังดึงประชาชนระดับรากหญ้าให้มามีส่วนร่วมทั้งในทางที่ถูกและผิด ซึ่งจะขยายตัวและอาจเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดได้ ถ้าไม่แก้ไขจริงจัง 3. สังคมไทยอาจเผชิญความรุนแรงขนาดใหญ่กว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา วิกฤติทักษิณที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี ทำให้ความขัดแย้งกว้างและลึกขึ้น กลายเป็นระดับมวลชนทั่วประเทศ และลึกลงสู่ความเชื่อในระดับการดำรงอยู่ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สถาบันยุติธรรม ภูมิภาคนิยม จะทำให้คนมองโลกเป็นมิติเดียว เช่นเรา-เขา ดี-ชั่ว รักชาติ-ขายชาติ รักพวกพ้องอย่างสุดขั้ว มีโอกาสเกิดภาวะอนาธิปไตยที่ไม่มี ใครฟังใคร ใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล โดยขณะนี้ความรุนแรงย่อยๆ ระหว่างมวลชนได้เกิดขึ้นแล้วหลายจังหวัด และมีโอกาสขยายเป็นความรุนแรงยืดเยื้อในวงกว้างขึ้น อาจถึงขั้นจลาจล มีโอกาสลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งแม้แต่การรัฐประหารก็อาจจะควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่


ใน 1-2 ปี เผด็จการเต็มรูปแบบ

 

นายธีรยุทธกล่าวด้วยว่า ตนได้วิเคราะห์อนาคตว่า 1. ความรุนแรงในสังคมไทยจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ความรุนแรงย่อยๆ ระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายจะเกิดถี่ และมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น หากพรรคพลังประชาชนรุกหนักเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การขยายอำนาจครอบงำกองทัพ จะเกิดการต่อต้านกว้าง และเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และหากเกิดการคอรัปชัน การขยายตัวจะเกิดทันที ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จึงเป็นเวลาที่เสี่ยงมากต่อการเกิดสถานการณ์รุนแรงเกินควบคุม อาจตามมาด้วยรัฐประหารและเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ กลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณมีโอกาสน้อยมากที่จะบรรลุเป้าหมาย กลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีโอกาสน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะบรรลุเป้าหมายของตน 2. สำหรับตุลาการภิวัตน์ อาจส่งผลเป็นรูปเป็นร่างได้บ้างในช่วงปลายปี พ.ศ.2551 ซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้นมีโอกาสก้ำกึ่งที่จะคลี่คลายวิกฤติ เพราะคนอาจมองว่าบรรลุผลน้อยเกินไป และหันไปมุ่งแก้ปัญหาอย่างสุดขั้ว

 

แนะสังคมมองปัญหาอย่างมีสติ

 

นายธีรยุทธกล่าวอีกว่า 3. พันธมิตรฯควรปรับวิธีการต่อสู้ โดยเคลื่อนไหวทางความคิดสลับกับการเคลื่อนไหวมวลชน ทั้งผ่อนสลับกับรุก ต้องชัดเจนว่าเป็นแนวสันติวิธี หลีกเลี่ยงการดึงดันไม่ควรรุกไปข้างหน้าจนเหมือนการตะลุมบอนฝ่ายโกงบ้านกินเมือง จะทำให้คนแยกแยะและเลือกฝ่ายสนับสนุนได้ลำบาก ที่สำคัญในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมือง ไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ต้องมีเวลา ขั้นตอน จังหวะก้าวที่เหมาะสม สำหรับคนไทยต้องเจริญสติ มองการแก้ปัญหาทีละเปลาะๆ ทางเลือกที่มั่นคง ถาวรและดีที่สุดสำหรับระยะยาวของประเทศคือการสร้างประชาธิปไตยสมดุล ทั้งยังเป็นหนทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด สังคมควรสนับสนุนการทำงานของศาลในการลงโทษนักการเมืองที่คอรัปชัน และสร้างกรอบวินัยทางจริยธรรมให้กับนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ คนชั้นกลางและสังคมทั่วไปควรขยายพื้นที่ของการถกเถียงวิจารณ์ที่เป็นเหตุเป็นผล และขยายองค์ความรู้ด้านประชาธิปไตยสมดุลมากขึ้น

 

ผบ.ตร.คาดโทษหากม็อบตีกัน

 

ด้านความเคลื่อนไหวตำรวจ หลังปล่อยให้เกิดเหตุกลุ่มคนรักอุดรเปิดฉากตะลุมบอนกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เข้ามาเปิดเวทีปราศรัยที่บริเวณหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี แล้วนั้น เมื่อวันที่ 26 ก.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวย้ำอีกครั้งกรณีการปะทะของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ผบช. และ ผบก.จ.ต้องให้ความสนใจติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการจัดปราศรัยแบบดาวกระจายไปในหลายจังหวัด ต้องมีการจัดชุดหาข่าวและออกแผนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย อย่าให้เกิดเหตุการณ์เข้าปะทะของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างกรณีที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ถือเป็นบทเรียนสำคัญ อย่าให้เกิดขึ้นอีก เพราะจะมีการพิจารณาความบกพร่องของผู้ที่รับผิดชอบ ในพื้นที่ใดที่มีการชุมนุมต้องจัดสถานที่ชุมนุมและแยกกลุ่มผู้ชุมนุมออกห่างจากกัน ซึ่งการหารือร่วมกันของ รอง ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. จะมีการประสานทหาร และ ผวจ.เข้ามาสนับสนุน การรักษาความสงบเรียบร้อยกลุ่ม ได้มอบให้ พล.ต.อ.วงกตมณีรินทร์ รอง ผบ.ตร.จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขกฎหมายควบคุมการชุมนุม ในส่วนการจับกุมผู้ที่สั่งการและทำร้ายผู้ชุมนุมที่ จ.อุดรธานี ได้มอบให้ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร.

 

ปานศิริย้ำทุก จว.ต้องพร้อม

 

พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ที่ปรึกษา (สบ 10) เทียบเท่า รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า การชุมนุมมีการเคลื่อนตัว แบบดาวกระจายไปในหลายจังหวัด ผบช. และ ผบก.ภ.จ. ต้องตื่นตัวออกแผนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าปะทะของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และการสืบสวนหาข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องกำหนดผู้ที่รับผิดชอบให้ชัดเจน และต้องใช้การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องที่ บช.ต้องเตรียมการ ไม่มีไม่ได้ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานใบปลิวการพูดของผู้ชุมนุมต้องมีการบันทึกภาพนิ่งเสียง และวีดิโอ ซึ่งอาจจะมีการกระทำความผิดอาญา ซึ่งแยกเป็น 3 ส่วน คือความผิดส่วนตัวคดีดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท, คดีหมิ่นสถาบันและความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม ซึ่งเป็นความผิดทางแพ่งมีการปิดถนนใช้เครื่องขยายเสียงต้องฟ้องร้องที่ศาลแพ่งเหมือนที่มีการแจ้งความของนักเรียนผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยมที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดถนนประท้วงบริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าการชุมนุมยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง

 

รองโฆษกฯ ป้อง ตร.อุดรประเมินพลาด

 

ส่วนกรณีแกนนำพันธมิตรฯ บอก ผบก.ภ.จ.อุดรธานี มีส่วนรู้เห็นการทำร้ายพันธมิตรฯ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดอุดรธานีได้เตรียมกำลังไว้พอสมควร ก่อนหน้านี้มีการปะทะ 2 ครั้ง คือ วันที่ 17 มิ.ย. และวันที่ 27 มิ.ย. เป็นการปะทะโจมตีกระทบกระทั่งเล็กน้อยทั้งสองครั้ง แต่กรณีล่าสุดที่มีการปะทะกัน จังหวัดอุดรฯทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะมาเปิดเวทีปราศรัยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และกลุ่มชมรมคนรักอุดรได้ประกาศผ่านคลื่นวิทยุ 97.5 มีการระดมคนมาต่อต้านพันธมิตรฯ โดยมีการจัดเวทีปราศรัยที่หนองประจักษ์ ซึ่งจังหวัดอุดรธานีได้เตรียม พร้อมได้สั่งการให้ สภ.เมือง สภ.กุมภวาปี สภ.หนองหาร สภ.เพ็ญ สภ.กุดจับ สภ.หนองวัวซอ สภ.บ้านเทื่อน กลุ่มงานสืบสวนปราบปรามจัดชุดควบคุมฝูงชนและขอรับการสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน กก.ตชด.24 จัดกำลังแยกเป็น 2 ส่วน จุดแรกที่ทุ่งศรีเมือง จุดที่สองโรงแรมนภาลัย และจุดที่สาม หนองประจักษ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ยอมของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ตำรวจและจังหวัดได้เจรจาแต่ไม่รู้เรื่อง แต่เหตุการณ์รุนแรงมาจากการประเมินสถานการณ์คาดไม่ถึงจะรุนแรงขนาดนี้ เพราะสองครั้งแรกเป็นการปะทะเล็กน้อย และตำรวจได้รับคำสั่งห้ามมีอาวุธกระบอง เหลือแต่โล่ จำนวนผู้ชุมนุมที่มามากกว่าทำให้การสลายชุมนุมไม่ได้

 

อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสเตือนสติ

 

พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันขออัญเชิญพระ ราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสไว้เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2535 ที่พระราชทานแก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ว่า ฉะนั้นขอให้ช่วยกันคิดคือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคนเป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือดเวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไรแล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองซากปรักหักพังฝากไปยังทุกฝ่ายขอให้ทุกคนมีสติหันหน้าเข้าหากันแก้ไขปัญหาของชาติ


งัดแผน กรกฎ48คุมม็อบ

 

พล.ต.ต.สุรพลกล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ที่กระทำความผิด ทางตำรวจยืนยันจะนำภาพเคลื่อนไหวภาพนิ่งที่อัดการปราศรัยมาดำเนินคดีผู้สั่งการและผู้ที่กระผิด โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำเนินการตามหลักนิติธรรม ด้วยความเสมอภาคให้ความเป็นธรรม ผบช.และ ผบก.ภ.จังหวัด จะต้องถือปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนตาม ขั้นตอนของแผนกรกฎ 48 อย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ที่ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ กันของกลุ่มผู้ชุมนุม

 

บุญสร้างเตือนคนไทยต้องใช้สติ

 

อย่างไรก็ดี ตลอดวันก็ยังมีหลากหลายความคิดเห็น ในกรณีม็อบปะทะม็อบที่ จ.อุดรธานี อย่างต่อเนื่อง โดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอให้ทหารเข้ามาช่วยควบคุมการชุมนุม ของกลุ่มต่างๆ ว่าเรื่องดังกล่าวต้องเป็นไปตามระบบและขั้นตอน ส่วนสถานการณ์จะต้องถึงขั้นนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรมาใช้แก้ไขสถานการณ์ หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเกี่ยวกับการเผชิญหน้าระหว่างชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มต่อต้านฯ และจากที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมนั้น  ทางกองทัพรู้สึกเป็นห่วงปัญหาการขาดความสามัคคีในชาติและถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ ขณะนี้มากกว่าปัญหาภายนอกประเทศ และมองว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนใช้สติ อย่าใจร้อน และอย่าสร้างความรุนแรงเพราะจะทำให้แก้ปัญหาได้ยาก

 

ชวนร้องหาสำนึกจาก รบ.

 

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มชมรมคนรักอุดร ว่าคิดว่าไม่ใช่เป็นความคิดของ คนอุดรธานีทั้งหมด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่และความสำนึกและรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งคิดว่าไม่ใช่กระทบต่อศักยภาพของคนในรัฐบาลเท่านั้น แต่ทำให้เข้าใจหรือมองว่าลักษณะของโครงสร้างการปกครอง ปัจจุบันคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อเรื่องของระบบหรือโครงสร้างการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และอยากให้ตระหนักร่วมกันว่า ฝ่ายราชการจะต้องทำตนเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในทางที่ไม่ชอบของฝ่ายการเมืองคำสั่งหรือสัญญาณใด ซึ่งคิดว่าอย่างนี้เป็นอันตรายมากและทำให้ความรู้สึกความเชื่อมั่นต่อระบบราชการของไทยลดลงไป ประชาชนก็จะหมดที่พึ่ง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมายแล้วให้คนของตัวเองละเมิดกฎหมายไปทำร้ายผู้อื่นอย่างนี้ไม่ถูกต้อง

 

คาใจ ตร.จ้องออก ก.ม.ปราบม็อบ

 

ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลอาจจะนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ปรามผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้สถานการณ์ปานปลาย นายชวนกล่าวว่า ความจริงแล้วไม่ถึงขั้นที่จะต้องนำ พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกมาใช้ลำพัง  เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆในพื้นที่ต้องตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาก็สามารถทำได้หรือคลี่คลาย สถานการณ์ได้ แต่ปัญหาหนึ่งที่ตนไม่แน่ใจคือปากว่า ตาขยิบกันหรือเปล่า รู้เห็นกันหรือเปล่า พฤติกรรมจะเป็น ตัวบอกว่าไม่ชอบมาพากลในสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ดีกว่านี้  ปล่อยให้มีการ ทำร้ายก่อเหตุเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายการเมือง ก็มีส่วน รู้เห็นแน่นอน แต่เจ้าหน้าที่ไปยอมไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนถือว่าเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ต้องเคารพกติกา และรักษากฎหมายบ้านเมือง

 

ชท.สวด ตร.ปล่อยไทยตีไทย

 

ขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คนไทยทั้งชาติไม่สบายใจที่เห็นคนไทยด้วยกันเอง เห็นภาพข่าวแล้วมันบาดความรู้สึก เรื่องนี้ถ้าตำรวจและฝ่ายปกครองดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ก็จะไม่เกิด เพราะม็อบแต่ละกลุ่มต้องมีการจัดตั้ง การเชิญชวนคนมาร่วม เจ้าหน้าที่รัฐรู้ล่วงหน้าต้องมีมาตรการป้องกันการปะทะ ทำร้ายกัน และที่ จ.อุดรธานี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดหลายครั้งแล้ว เป็นคนกลุ่มเดิมๆ และจะเป็นอุทาหรณ์ในอีกหลายจังหวัด และขอเตือนฝ่ายบ้านเมืองว่าอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล หากเกิดขึ้นซ้ำอีกจะกระทบต่อภาพพจน์และความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ ที่สำคัญส่งผลถึงรายได้ของชาติไทยด้วย เพราะสื่อต่างชาติยิ่งแพร่ ภาพออกไปมากเท่าไหร่เท่ากับยิ่งเพิ่มบาดแผลของชาติมากยิ่งขึ้น จำเป็นที่ตำรวจและฝ่ายปกครองต้องเร่งจัดการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มคนที่ปรากฏอยู่ในภาพที่สื่อโทรทัศน์บันทึกภาพให้ได้ เพราะหากยิ่งปล่อยไว้จะเกิดการเลียนแบบ เพราะเชื่อว่ายังมีการชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่าย ในอีกหลายจังหวัด เกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย

 

พปช.ปัด ส.ส.หนุนม็อบต้าน พธม.

 

ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์และติดตามการเคลื่อนไหวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ส. พรรคพลังประชาชนอยู่เบื้องหลังม็อบต้านพันธมิตรฯ ว่า พรรคพลังประชาชนมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าไม่ สนับสนุนการใช้กำลัง และเห็นว่าการเคลื่อนไหวเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ จึงไม่ได้กำชับ ส.ส.ในช่วงนี้เป็นพิเศษ แต่การที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวติดต่อกันยาวนานและใช้แผนดาวกระจายไปในพื้นที่และจังหวัดต่างๆ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในที่ตั้งอึดอัดในใจ หัวอกจะระเบิดว่าทำไมคนเหล่านี้อยู่เหนือกฎหมาย ใช้กฎหมู่ย่ำยีคนนั้นคนนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนต่างหากที่มาห้ามปรามไม่ให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราไปทำอย่างนั้นผลเสียจะตก แก่พรรคพลังประชาชนและรัฐบาล เพราะจะหาว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ถ้าเราไปยุประชาชนจริงนะช่วงนี้สถานการณ์ดูไม่จืด

 

แฉแผนดึงทหารโค่นรัฐบาล

 

ร.ท.กุเทพกล่าวว่า ที่สำคัญใช้ยุทธศาสตร์มายั่วยุในเขตที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคพลังประชาชน เช่น ที่ จ.อุดรธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ที่เป็นพื้นที่อุณหภูมิการเมืองมันร้อนถึงขีดสุด เพื่อทำให้เกิดการปะทะกันพร้อมบันทึกภาพไว้ เพราะเขามั่นใจว่ากุมสถานภาพสื่อได้ดีกว่า และแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนเป็นระบบมากกว่า ต้องถามว่าพันธมิตรฯเคลื่อนไหวทั้งหมดมีแผนต้องการอะไรกันแน่ โค่นรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลไม่ลาออกก็เรียกร้องอำนาจอื่นให้เข้ามาแทรกแซงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลด้วยระบบไหนก็ได้ ที่ผ่านมาเคยทำสำเร็จมาแล้วในรัฐบาลทักษิณ แต่เราประเมินว่าวิธีการของพันธมิตรยิ่งทำไปยิ่งอ่อนกำลังลง เพราะการชุมนุมที่ต่างจังหวัดจะเจอแรงเสียดทาน และทำให้ภาพพจน์ของประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น จึงอยากให้พันธมิตรทบทวนยุทธศาสตร์ว่าเมื่อรัฐบาลไม่ลาออก ต้องพักรบแล้วหาวิธีการอื่นต่อ รัฐบาลก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ปีนี้หรือปีหน้า อาจจะเกิดปัญหาที่มีต่อรัฐบาลอยู่แล้วมันค่อยไปว่ากัน


ธีระชัยย้ำให้ ตร.ทำตาม ก.ม.

 

ส่วนนายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.อุดรธานี ให้สัมภาษณ์หลังเข้าเยี่ยมอาการผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันของกลุ่มพันธมิตรฯ กับชมรมคนรักอุดร ที่ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เพียงรายเดียว ซึ่งเป็นคนของกลุ่มคนรักอุดร ว่า ไม่ได้เลือกว่าเป็นคนของ กลุ่มใด เพราะคนป่วยเหลือเพียงคนเดียว ซึ่งผู้บาดเจ็บหลายคนที่กลับไป ตนได้โทรศัพท์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่าเป็นคนอุดรธานีเหมือนกัน และบางคนที่ได้รับบาดเจ็บก็คุ้นเคยกันดี ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าไม่สบายใจ เพราะตนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล และเป็น ส.ส.อุดรธานี ขอให้เกิดเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ซึ่งจากนี้ตนจะประสานงานกับ ผวจ. ผบก.ตำรวจ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง ส่วนผู้บาดเจ็บจะบาดเจ็บด้วยสาเหตุใด มีอะไร ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ก็ยืนยันกรณีมีสื่อว่า นายอุทัย แสนแก้ว น้องชายตน นำคนไปก่อเหตุนั้น เคยเตือนเขาแล้วว่าให้ระวังจะเป็นเหยื่อทางการเมือง แต่ถ้ามีภาพมาฟ้อง ความจริงก็คือความจริงอยู่วันยังค่ำ

 

จำลองไม่หวั่นข่าวถูกปองร้าย

 

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ค. ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตั้งแต่ด้านกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงแยกสวนมิสกวัน ยังคงมีผู้ชุมนุมมาฟังการปราศรัยบนเวทีอย่างเหนียวแน่น ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวยืนยันที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีปราศรัยประกาศว่าจะมีคนมาปองร้ายตัวเองและ พล.ต.จำลอง ว่า เป็นจริงที่มีข่าวคนปองร้ายพวกตน โดยทราบมาจากแหล่งข่าวที่มีความเชื่อถือ ได้ ซึ่งตนและนายสนธิไม่ได้หวั่นไหวกับข่าวดังกล่าวแต่ก็ไม่ได้ประมาทและระวังตัวกับเหตุการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้ และไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน ที่จะมาปองร้าย และก็ไม่อยากถามกับแหล่งข่าวของตนว่าเป็นกลุ่มไหนเหมือนกัน เพราะพวกเราไม่อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องมาหวาดวิตกกับเรื่องนี้

 

จวก ตร.ปัดสวะหวังออก ก.ม.คุมม็อบ

 

ต่อข้อซักถามที่ว่า ตำรวจกับทหารจะออกมาหารือ กัน แล้วออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อจัดการกับการชุมนุมต่างๆทางกลุ่มพันธมิตรฯมีความคิดเห็นอย่างไร พล.ต.จำลองกล่าวว่า นั่นเป็นการ เบี่ยงเบนประเด็น ไม่เห็นต้องมีการเพิ่มเติมกฎหมายอะไร เพราะบ้านเมืองเราก็มีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เหมือนเป็น การปัดสวะชัดๆ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีคนหนึ่งมาทำร้าย ร่างกายอีกคน ถึงขั้นจะฆ่ากันให้ตาย ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นยืนดูเหตุการณ์เฉยๆ และไม่จัดการอะไรเลย แล้วจะให้พวกเรามารอกฎหมายควบคุมการชุมนุมอีกหรือไง ถ้าหากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็อย่ามาเป็นตำรวจดีกว่า และควรลาออกจากตำแหน่ง เพราะขนาดเด็กเล็ก ทั่วไปยังรู้เรื่องเลยว่าตำรวจมีหน้าที่อย่างไร และจะต้อง ปฏิบัติเช่นไรกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น แต่อย่างไร ก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบและเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติ ตามหน้าที่ ก็ไม่เป็นไร และพวกเราก็จะชุมนุมต่อไป

 

ฝังแค้นรอเปลี่ยน รบ.เช็กบิล ตร.

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กลุ่มพันธมิตรฯจะดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ถ้าฟ้องก็จะฟ้องกับตำรวจบางคนที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่จะฟ้องเหมารวมตำรวจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถ้าช่วงนี้ดำเนินการฟ้อง อาจจะไม่เป็นผล เพราะต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดนี้ก่อน ถึงจะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนท่าทีของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่ยังนิ่งเฉยอยู่นั้น คิดว่าทหารต้องออกมาแก้ปัญหา เพราะทหารต้องรักษาความมั่นคงของประเทศด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ต่อข้อถามอีกว่า วันนี้เป็นวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางพันธมิตรฯจะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พล.ต.จำลองตอบว่า ไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น

 

พ.ต.ท.แจ้งความ ผบก.ภ.จ.อุดรฯ

 

ด้านความคืบหน้าการดำเนินคดีกับสองม็อบที่ปะทะกัน ที่ จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน พ.ต.ต.กมล อปการัตน์ สารวัตรเวร สภ.เมืองอุดรธานี รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ทัศนาบดี ตระกูลพิทักษ์ชน อายุ 41 ปี อดีต สว.สส.ภาค 4 (หน.ครูฝึกยุทธวิธี) บ้านเลขที่ 49/1 ม.4 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี ให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดาศักดิ์ ผบก.ภ. จ.อุดรธานี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 เพราะตำรวจได้อำนวยความสะดวกให้ชมรมคนรักอุดร เคลื่อนขบวนจากสนามทุ่งศรีเมือง ส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์ กิริยาคล้ายคนเมา ฮึกเหิม คึกคะนอง และมีอาวุธในมือ โดย พ.ต.ท.ทัศนาบดีระบุว่า มีประสบการณ์หลักสูตร ยุทธวิธีตำรวจในเมือง และการควบคุมฝูงชน ถ้าตำรวจพบพฤติกรรมดังกล่าวเคลื่อนมาอย่างช้ากว่า 3 กม. ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะต้องมีคำสั่งระงับยับยั้ง สั่งให้ ผู้นั้นวางอาวุธ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายจะเกิดขึ้น แต่กลับไม่ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธี ซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม จนเคลื่อนไปถึงหนองประจักษ์ฯ และฝ่าแนวรับเข้าไปก่อเหตุ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และแจ้งความดำเนินคดีกับนายขวัญชัย สาระคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร นายอุทัย แสนแก้ว อดีตนายกเทศมนตรีตำบลไชยวาน จ.อุดรธานี น้องชายนายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำจากเหตุการณ์ชมรมคนรักอุดรบุกเข้าไปทำร้ายทำลายทรัพย์สินกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หนองประจักษ์ฯ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.210 และ 215 ในข้อหาซ่องโจร สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดและมาแจ้งความในฐานะประชาชนชาว จ.อุดรธานี

 

พธม.ไม่เอาผิดใครอ้างไม่เชื่อ ตร.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรฯ จ.อุดรธานี มาแจ้งความดำเนินคดีกับชมรมคนรักอุดร ทั้งในคดีทำร้ายร่างกาย และคดีทำให้เสียทรัพย์ ขณะที่ พ.ต.อ.ก่อเกียรติ วงษ์สุเมธ ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี ยังคงให้พนักงานสอบสวนหาพยานหลักฐานดำเนินคดีกับคนที่ใช้อาวุธทำร้ายกันบริเวณหนองประจักษ์ฯ จากหลักฐานเทปบันทึกภาพซึ่งได้สอบปากคำคนเจ็บไปได้แล้ว 6 ปาก รวมทั้งตำรวจ 2 นายด้วย ทั้งนี้ นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จ.อุดรธานี และแกนนำหลายคนไม่สามารถติดต่อได้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว มีเพียงสมาชิกกลุ่มย่อยที่นัดหมายพูดคุยเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวอีกรอบในรูปแบบใหม่ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่จำเป็นต้องออกมาโต้ตอบชมรมคนรักอุดร กรณีกล่าวหาว่ากลุ่มพันธมิตรฯมีอาวุธ เพราะในภาพปรากฏในสื่อเห็นได้ชัดว่า ชมรมคนรักอุดรถืออาวุธบุกเข้ามาเป็นการจับโกหกคำโตอยู่แล้ว ส่วนการที่ยังไม่มีการแจ้งความ เพราะไม่เชื่อมั่นการทำงานของตำรวจ

 

กลุ่มพิทักษ์สิทธิฯมะกันจวก รบ.ไทย

 นอกจากนี้มีรายงานข่าวด้วยว่า กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยปกป้องกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองจากการถูกกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลโจมตี โดย ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ระบุว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามสถานที่ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศราว 12 ครั้ง ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. มีการปะทะกันครั้งรุนแรงที่สุดที่ จ.อุดรธานี ทำให้มีผู้บาดเจ็บราว 40 คน ขณะที่ตำรวจยืนดูอยู่เฉยๆ ขณะเกิดการปะทะกัน ทั้งนี้นางเอเลน เพียร์สัน รองผู้อำนวยการ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ในภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ชุมนุมอย่างสันติ การปล่อยให้กลุ่มอันธพาลที่สนับสนุนรัฐบาลก่อความรุนแรงตามอำเภอใจ รัฐบาลกำลังทำให้ประชาธิปไตยที่เปราะบางของไทยตกอยู่ในอันตราย  ฮิวแมน  ไรท์ วอทช์ขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวและนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี พร้อมทั้งเผยว่า สมาชิกกลุ่ม คนรักอุดรซึ่งสนับสนุนรัฐบาลราว 1,000 คน บุกโจมตีทำลายการชุมนุมอย่างสันติของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.อุดรธานี และมีรายงานว่า สถานีวิทยุท้องถิ่น คลื่น 97.5 เอฟเอ็ม ก็ปลุกปั่นยุยงกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลซึ่งมีทั้งมีด ดาบ ขวาน ท่อนเหล็ก ท่อนไม้ และหนังสติ๊กเป็นอาวุธด้วย ขณะที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์เผยว่า ตำรวจและอาสาสมัครป้องกันภัยท้องถิ่นราว 500 คน ไม่พยายามยุติความรุนแรงหรือจับกุมผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์