แห่เติมน้ำมันขานรับปรับลดราคา

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการจำหน่ายน้ำมันของปั๊มน้ำมันทั่วประเทศในวันเดียวกันนี้

ที่ถือเป็นวันแรกในการลดภาษีและลดราคาน้ำมันตามตลาดโลกรวมกันเกือบลิตรละ 5 บาท ทำให้ประชาชนนำรถยนต์รอคิวเติมน้ำมันกันจำนวนมาก ตั้งแต่ 06.00 น. โดยที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.หลายแห่งในเขตกรุงเทพฯ ต้องปิดป้ายว่าน้ำมันหมด โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ประมาณลิตรละ 8-9 บาท ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งถึงกับส่ายหัวด้วยความผิดหวัง เพราะบางรายต้องเติมน้ำมันมา 2-3 วันแล้ว เนื่องจากต้องการรอเติมน้ำมันในช่วงที่ราคาถูก

ส่วนบรรยากาศตามต่างจังหวัด เริ่มจาก จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อกลางดึกวันที่ 24 ก.ค. นายดำริห์ บุญจริง รองผู้ว่าฯ ออกตรวจปั๊มน้ำมัน ขนาดใหญ่

หลังผู้ประกอบการปิดให้บริการเพื่อเช็กสต๊อกและตรวจสอบคุณภาพถังน้ำมัน โดยพบว่าราคาจำหน่ายน้ำมันลดลง 2.10-3.30 บาท ส่วนที่ จ.สงขลา พบว่าประชาชนต่างพอใจที่ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำกว่า 40 บาทต่อลิตร ต่างแห่แหนมาเติมน้ำมันกันแน่นขนัดปั๊ม ต่างจากที่ จ.อุทัยธานี เนื่องจากแม้รัฐบาลจะปรับลดราคาน้ำมันลง แต่ประชาชนกลับไม่สามารถหาปั๊มน้ำมันเติมได้ โดยปั๊มใหญ่ในพื้นที่ต่างนำป้ายขออภัย น้ำมันหมดมาติดไว้แทน โดยผู้ให้บริการต่างยืนยันว่าไม่มีการกักตุนน้ำมันอย่างแน่นอน ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ได้มีประชาชนที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล แห่แหนไปติดตั้งระบบแก๊สแอลพีจี ที่บริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งอ้างว่าได้ปรับปรุงระบบแก๊สจนใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้

ขณะที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว. คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายเผชิญ ไพโรจน์ศักด์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า กทพ.เตรียมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ประชาชนผู้ใช้ทางด่วนเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7%

เนื่องจากที่ผ่านมา กทพ.ต้องเป็นผู้รับภาระแทน แต่ในหลักการไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปรับภาระในส่วนนี้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามระบบ เพราะผู้ใช้ทางด่วนถือว่าเป็นผู้มีรายได้ และจะส่งผลให้การปรับค่าผ่านทางในวันที่ 1 ก.ย. 2551 ต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย จึงได้เร่งรัดให้ กทพ. สรุปรายละเอียดเปรียบเทียบตัวเลขต่าง ๆ เสนอมายังคมนาคมโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ภายในต้นเดือน ส.ค.

นายเผชิญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทพ. ต้องเข้ามาแบกรับภาระแทน เฉลี่ยปีละ 700-800 ล้านบาท

และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราค่าผ่านทางที่มีการปรับราคา โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 900 ล้านบาท ดังนั้นหากผู้ใช้ทางด่วนรับภาระในส่วนนี้ ส่งผลให้ กทพ.แบกรับภาระน้อยลง ทั้งนี้หาก ครม.เห็นชอบให้ผู้ใช้ทางด่วนเป็นผู้รับภาษีมูลค่าเพิ่ม จะส่งผลให้ ค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จาก 40 บาท เป็น 45 บาท ต้อง เพิ่มเป็น 48 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จาก 60 บาท ปรับเป็น 70 บาท ต้องเพิ่มเป็น 74 บาท และรถยนต์ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป จาก 85 บาท เป็น 100 บาท ต้องเพิ่มเป็น 107 บาท.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์