อ้วนลงพุง ภัยเงียบที่อันตราย!

เบคอน ขาหมู พิซซ่า กล้วยทอด หนังไก่ทอด เมนูยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญต่อการเกิดห่วงยางรอบเอว ไขมันตัวร้ายที่ยากจะกำจัดออกไป

ทางโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน ร่วมกับ บริษัท แอบบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จึงจัดสัมมนาในหัวข้อ “อ้วนนัก ชักไม่ปลอดภัย” เพื่อกระตุ้นให้คนไทย หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพรอบเอว ตัวบ่งชี้สำคัญสำหรับภาวะโรคอ้วนลงพุง

  
นพ.วิศิษฐ์ ภาสุรปัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน-ต่อมไร้ท่อ ประจำโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน กล่าวว่า โรคอ้วนลงพุง เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ทำให้ตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินในปริมาณมาก เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาโรคเรื้องรังต่างๆ ตามมา ทั้งโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การไม่ออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ โดยในชายและหญิงนั้นจะมีลักษณะการอ้วนลงพุงที่แตกต่างกัน 


"สำหรับผู้ชายจะมีไขมันสะสมตรงช่องท้องมากกว่าส่วนอื่นๆ ขณะที่ผู้หญิงมักจะสะสมบริเวณต้นขา และสะโพก ส่วนสัญญาณที่เตือนว่าเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงนั้น เบื้องต้นสามารถวัดได้จากเส้นรอบเอว หากมีเส้นรอบเอวเกินกว่า 90 ซม. และ 80 ซม. ในชายและหญิง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง หากคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง ก็จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมทั้งการใช้ชีวิต และการทานอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วนลงพุงยิ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นได้เช่นกัน เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่การลดน้ำหนักควบคู่ไปกับดูแลสุขภาพร่างกายตนเอง ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคอ้วนลงพุงนี้ได้”


วิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด จตุพร มีสมศักดิ์ นักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาลเปาโลฯ ชี้ว่า การออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารจะได้ประสิทธิภาพมาก ซึ่งควรจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป


“หากเราใช้วิธีการอดอาหารเพียงอย่างเดียว น้ำหนักลดได้จริง แต่แทนที่ไขมันจะหายไป กลายเป็นว่าร่างกายเราจะสูญเสียโปรตีน และกล้ามเนื้อแทนในแต่ละวันควรออกกำลังกายให้ได้ 30 นาที และไม่ควรหยุดเกิน 2 วัน ทั้งนี้เน้นที่การอบอุ่นร่างกาย เพราะเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ"


นักกายภาพแนะเคล็ดลับอีกว่า ควรหายใจเข้าออกทางจมูก มากกว่าใช้ปากช่วยหายใจ เท่ากับเป็นการฝึกความอดทนไปในตัว 


แม้พันธุกรรมจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถเลือกที่จะจัดการและควบคุมได้เหมือนอย่างคำกล่าวที่ว่า “สุขภาพดีไม่ได้มาง่ายๆ ถ้าอยากได้ต้องทำเอง”


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์