ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า ทาง ขอ. จะพักใบอนุญาต
ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC ของสายการบินวันทูโก แอร์ไลน์ จำกัด ซึ่งให้บริการเส้นทางบินในประเทศ ที่ใช้เครื่องบินแบบ MD 80 Series ทั้งหมดเป็นเวลา 30 วัน มีผลตั้งแต่ วันที่ 22 ก.ค.เป็นต้นไป ถึงวันที่ 20 ส.ค.นี้ โดย ขอ. ให้โอกาสบริษัทดังกล่าว ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากบริษัทเพิกเฉย หรือดำเนินการไม่สมบูรณ์ ขอ.จะสงวนสิทธิที่จะขยายระยะเวลาพักใช้ หรือเพิกถอนใบรับรองผู้ดำเนินการอากาศ แต่หากตรวจสอบพบว่ามีการแก้ไขได้มาตรฐานที่สมบูรณ์ ขอ.ก็จะอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้ ส่วนสายการบินโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด นั้น ทาง ขอ.ให้ไปจัดระบบบันทึกข้อมูลเวลาทำการบินของนักบิน ให้มีความเหมาะสมภายในวันที่ 30 ก.ค.นี้
สำหรับสาเหตุที่ ขอ.พักใบอนุญาตครั้งนี้ สืบเนื่องจากได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติการบิน
ตารางการบินและการบำรุงรักษาอากาศยานของบริษัทแล้ว พบว่าระบบความปลอดภัยไม่ได้ปฏิบัติตามคู่มือที่ได้รับความเห็นชอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่กฎหมาย ว่าด้วยการเดินอากาศ และตามหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยตามที่ ขอ.กำหนด โดยเฉพาะผู้ตรวจสอบความเชี่ยวชาญของนักบิน (Checker) ในฝูงบิน 80 ที่เซ็นผ่านการทดสอบนักบินล่วงหน้า ทั้งที่นักบินยังไม่ได้ผ่านการทดสอบจริงส่งมายัง ขอ. ถือเป็นการยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ ซึ่งจากการตรวจสอบของ ขอ. พบว่าระยะเวลาที่ Checker เซ็นชื่อนักบินผ่านการทดสอบนั้น Checker อยู่ระหว่างการแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นอกจาก ขอ.จะถอนใบอนุญาตแล้ว ยังจะแจ้งความดำเนินคดีทางอาญากับผู้ ตรวจสอบความเชี่ยวชาญของนักบิน (Checker) อีกด้วย
อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศกล่าวต่อว่า นอก จากนั้น ขอ. ยังตรวจสอบพบว่า สายการบินวันทูโก ไม่มีการบริหารจัดการองค์กรที่เหมาะสม
ไม่มีพนักงานเป็น ของตนเองอย่างแท้จริง โดยพบว่าพนักงานของวันทูโก และบริษัทโอเรียนท์ไทยปะปนกัน ไม่สามารถแบ่งแยก หน้าที่รับผิดชอบกันได้อย่างชัดเจน เหตุการณ์ดังกล่าว ขอ.ได้ตรวจสอบพบเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์เครื่องบินของวันทูโกประสบอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ ที่สนามบินภูเก็ต จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 89 ราย
นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทโอเรียนท์ไทย ยังตรวจสอบพบว่าไม่มีระบบบันทึกข้อมูลเวลาทำการบิน และปฏิบัติหน้าที่ของนักบิน
ทำให้นักบินปฏิบัติการบินเกินกว่าที่กำหนด ไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ จากที่ก่อน หน้านี้ ขอ.เคยทำหนังสือเตือนไปยังบริษัทดังกล่าวแล้ว แต่กลับเพิกเฉย ไม่มีการแก้ไขตารางการบิน หรือจัดหานักบินเพิ่มเติม เพื่อให้นักบินได้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เช่นในเวลา 1 วัน ที่ทำการบิน หากนักบินทำการบินไม่เกิน 8 ชั่วโมงบิน นักบินต้องพักไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่หากนักบินทำการบินเกิน 8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 16 ชั่วโมง นักบินต้องพัก 16 ชั่วโมง ซึ่งเงื่อนไขปฏิบัติการ บินดังกล่าว จะกำหนดอยู่ในประกาศของ ขอ. ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการบิน โดยให้โอเรียนท์ไทยไปจัดตารางการบินของนักบินให้เหมาะสมแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้
นายชัยศักดิ์กล่าวและว่า ขณะนี้ ขอ.ได้ถอนใบอนุญาต Checker ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย และนักบินในฝูงบิน MD 80 จำนวน 7 คน เป็นนักบินสัญชาติอินโดนีเซีย 6 คน และนักบินเวเนซุเอลา 1 คน
รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีทางอาญา ส่วนนักบินไทยอีก 2 คน ที่อยู่ในฝูงบินดังกล่าว จะถูกสั่งพักใบอนุญาตเท่านั้น แต่หากมีการทดสอบให้ได้มาตรฐานการบินตามที่กำหนด นักบินไทยก็สามารถกลับไปทำการบินใหม่ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน โอเรียนท์ไทยมีนักบินในบริษัททั้งหมด 80 คน เป็นนักบินต่างชาติ 51 คน และนักบินชาวไทย จำนวน 29 คนขณะเดียวกัน ยังได้ติดตามตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสายการบินอีกด้วย เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน และ ขอ.จะเข้มงวดกับการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC ให้มากขึ้น
อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวต่อว่า การถอนใบอนุญาต และพักใบอนุญาตดังกล่าว ทาง ขอ. เชื่อว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ขอ. มากขึ้น
เพราะทำให้เห็นว่า ขอ.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า ขอ. มีการตรวจเช็กมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีกับสายการบินที่อยู่ในกำกับดูแลและรับผิดชอบ ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า หากกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ). ตรวจพบว่าสายการบินใดมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับสายการบินวันทูโก ก็จะใช้มาตรการเดียวกันในการลงโทษ คือสั่งหยุดบินชั่วคราว จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อย เนื่องจากเป็นประเด็นที่อันตรายมากกว่าความปลอดภัย กลายเป็นเรื่องมาตรฐานการบิน ตนได้สั่งการให้ ขอ. เข้มงวดในการตรวจสอบทุกสายการบิน ไม่เฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำเท่านั้น และต่อไปผู้บริหารสายการบินทุกแห่งต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ เช่นให้ผู้ขับเครื่องบิน หรือกัปตัน ต้องตรวจตามมาตรฐานทุก 6 เดือน