มารศาสนาขายสังฆทานห่วย

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายเครื่องถวายสังฆทาน ในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้อย่างเข้มงวด

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน มีปริมาณสินค้าไม่ครบถ้วนมาบรรจุในเครื่องสังฆทาน หรือไม่ปิดป้ายแสดงราคาและไม่แสดงรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจน จนทำให้ประชาชนต้องซื้อของที่ไม่มีคุณภาพไปทำบุญ สำหรับปัญหาที่รับร้องเรียนเข้ามามาก คือ นำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้วเข้ามารวมจัดในชุด หรือนำสินค้าไม่มีคุณภาพใช้งานไม่ได้มาปะปน เช่น สบง จีวรพระสงฆ์ ที่ใช้ผ้าชนิดบางมากจนพระสงฆ์ไม่สามารถนำไปใช้นุ่งห่มได้ หรือนำไฟฉายที่หลอดไฟไม่ติดเข้ามาจัด หรือบางรายได้นำสินค้าไม่ถูกต้องตามฉลาก เช่น กล่องอีกยี่ห้อหนึ่งแต่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นของอีกยี่ห้อมาปะปนขายรวมกัน รวมทั้งการฉวยเพิ่มราคาขายสูงเกินจริงมากทั้งที่นำสินค้าราคาถูกมาใช้จัด
  
“แม้กรมฯจะประกาศเตือนและออกตรวจตราร้านค้าเป็นประจำ แต่พอถึงช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาต่อเนื่องว่า มีการนำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามามั่วจัดอยู่ในชุดถวายสังฆทาน ทำให้ปีนี้จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบยิ่งขึ้น ด้วยการบุกสำรวจถึงต้นทาง ดูว่าโรงงานผลิตเครื่องถวายสังฆทานขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ 3-4 แห่ง มีการจัดหา คัดเลือกสินค้า และนำมาจัดห่อเป็นชุดอย่างไร เพิ่มเติมจากเดิมที่เน้นตรวจสอบเฉพาะพื้นที่ปลายทางตามร้านขายปลีก หรือห้างสรรพสินค้าเท่านั้น”
  
นายยรรยง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมฯจะเร่งประชาสัมพันธ์ชี้แจงเรื่องการปิดป้ายแสดงราคาสังฆทาน

โดยแนะนำให้ผู้จำหน่ายปลีก และห้างสรรพสินค้าปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายชุดสังฆทานรวมค่าภาชนะบรรจุ ในลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนและเปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย พร้อมทั้งแสดงรายการสินค้า ขนาด น้ำหนักต่อหน่วย ปริมาณการบรรจุและราคาของสินค้าแต่ละรายการที่บรรจุในชุดสังฆทานตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องการแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ 
  


นอกจากนี้ จะตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตเครื่องสังฆทานให้มีการแสดงรายละเอียดตามที่กำหนดอย่างครบถ้วน

และตรวจสอบผู้บรรจุสินค้าหีบห่อแต่ละรายการที่บรรจุในชุดสังฆทาน เช่น ชาจีนบรรจุซอง นม ผงซักฟอก ยารักษาโรค ให้แสดงปริมาณสุทธิของสินค้าให้ตรงกับปริมาณสินค้าที่บรรจุในหีบห่อตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัด
  
ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าการผลิต หรือจำหน่ายเครื่องสังฆทานที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคา บรรจุสินค้า ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย จะมีโทษตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

โดยกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดกรณีที่ปริมาณสินค้าที่บรรจุไม่ตรงกับปริมาณที่แสดง หรือจำหน่ายโดยรู้ว่าปริมาณที่บรรจุไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  
“พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ชาวพุทธ  เสียความรู้สึกมาก เพราะพอถึงวันอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา คนส่วนใหญ่ตั้งใจไปทำบุญ ถวายเครื่องสังฆทานเป็นพุทธบูชาและเสริมสร้างบุญบารมีให้กับตนเองและครอบครัว แต่พอเจอเรื่องนี้เหมือนกับต้องเอาของไม่มีคุณภาพไปถวายให้พระสงฆ์ จึงอยากให้ผู้ประกอบการหยุดพฤติกรรม  เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำสินค้าที่มีปริมาณไม่ครบถ้วนมาบรรจุในเครื่องสังฆทาน ไม่ปิดป้ายแสดงราคาและไม่แสดงรายละเอียดของสินค้า  ให้ชัดเจน”
  
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสำรวจตลาดซื้อขายสังฆทานพบว่า ผู้ผลิตนิยมนำสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาจัดในชุดเครื่องถวายสังฆทานมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องอัฐบริขารที่มีราคาถูกกว่าสินค้าไทยซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก แต่สินค้าเหล่านี้ถูกร้องเรียนเช่นกันว่าไม่มีมาตรฐาน.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์