เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงกรณีปราสาทพระวิหาร โดยก่อนเข้าพบหารือ นายปองพลได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นผู้มาขอเข้าพบเองเพื่อมาชี้แจงข้อเท็จจริง
รวมทั้งได้นำเอกสารมติคณะกรรมการมรดกโลกมาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ดูด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ากรณีที่มติของ คณะกรรมการมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เพราะประเทศกัมพูชาเป็นผู้เสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เรื่องต่างๆก็ต้องไปลงที่กัมพูชา ไม่ใช่ประเทศเรา มติตอนท้ายก็มีเงื่อนไข 4 ข้อ ที่ว่าขึ้นทะเบียนแล้วประเทศกัมพูชาต้องทำอะไรบ้าง คิดว่าการกระทำของประเทศกัมพูชาจะไม่กระทบกับประเทศไทย เพราะทำอยู่ในเขตดินแดนของเขา เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารรวมกับพื้นที่ทับซ้อน เราก็ไปเจรจาจนเหลือแต่ตัวปราสาท จึงชัดเจนว่าไม่รุกล้ำมาในดินแดนไทย ทางคณะกรรมการมรดกโลกก็เป็นพยาน และยืนยันว่าไม่รุกล้ำเข้ามา
เขมรโห่ไทย ชายแดนเครียด
ยืนกรานไทยไม่ได้สูญเสียอะไรเลย ผู้สื่อข่าวถามว่าความรู้สึกของประชาชนรู้สึกว่า ประเทศไทยได้เสียดินแดนไปแล้ว ประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทยตอบว่า จึงต้องออกมาชี้แจงว่าเรายังไม่ได้ สูญเสียอะไรไปเลย ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาระบุว่าเราสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น เราก็ไม่มี เราก็ทำเหมือนเดิมที่ปฏิบัติมา 46 ปี อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ก็ยินดี แต่ขอปฏิเสธที่จะชี้แจงบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อถามว่า คณะกรรมการ 7 ประเทศ ที่จะเข้ามาดูแลจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ประธานคณะกรรมการมรดกโลกตอบว่า ในส่วนนี้เป็นเรื่องของชายแดน คณะกรรมการในส่วนของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวข้อง แต่ในส่วนของมรดกโลกเท่านั้น เรื่องชายแดนมีผู้รับผิดชอบ คือกระทรวงการต่างประเทศหรือทหาร เป็นหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้นที่จะต้องเจรจากับประเทศกัมพูชา ไม่ใช่ในส่วนของตน ต่อข้อถามว่าการเข้าชี้แจงต่อนายอภิสิทธิ์เพื่อให้ พรรคประชาธิปัตย์เห็นข้อเท็จจริง และจะไม่นำมาดำเนินการทางการเมืองกับรัฐบาลใช่หรือไม่ นายปองพลตอบว่า ไม่เกี่ยว คิดเสมอว่าเรื่องคณะกรรมการมรดกโลก ตนไม่มีพรรคและไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะคำว่ามรดกโลกเป็นคำที่กว้าง ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งอยู่เหนือเรื่องความขัดแย้ง ตนเอาเรื่องมรดกโลกเป็นตัวตั้ง
ชี้ไทยพ่ายเพราะความไม่มีเอกภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนกับประเทศไทยอย่างไรในอนาคต นายปองพลตอบว่า จากการสัมผัสจากเวทีโลก บทเรียนคือความเป็นเอกภาพของคนในชาติเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะอำนาจต่อรองของเราในเวที โลกอ่อนมาก เวลาเราไปเจรจาเราไม่อยู่ในฐานะที่ต่อรองอะไร ดังนั้น เราจะต่อรอง ชี้แจงคัดค้านหรือต่อให้เดินออกจากห้อง ทำอย่างไร เขาก็ลงมติอยู่ดี “เราจึงต้องทำเรื่องภายในประเทศของเราให้เรียบร้อย เพราะต่างประเทศมองสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ ขณะที่ประเทศกัมพูชาเป็นเอกภาพ เดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ไทยขาดๆหายๆ และเราก็ไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น เราต้องมารวมกันให้ได้ ทั้งภาครัฐและประชาชน รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเราไม่ได้สูญเสียอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ผมเป็นห่วง และพูดด้วยความหวังดี” นายปองพลกล่าว
“อภิสิทธิ์” เตือนเรื่องกัมพูชาทำแผนที่
นายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังการหารือกับนายปองพลว่า สิ่งที่ได้รับทราบคือตัวร่างข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลก และรายงานขององค์กรอิสระทางวิชาการที่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม รวมทั้ง คำปราศรัยของนายปองพลภายหลังที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติแล้ว จุดประสงค์ที่มีการแลกเปลี่ยนกันคือมองไปข้างหน้าว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปที่มีผลสืบเนื่องมาจากมติ ประเทศไทยจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ในส่วนของพรรคเห็นว่า มติได้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกในนามของประเทศ กัมพูชา และได้กำหนดให้กัมพูชาจัดทำแผนที่ ที่จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวปราสาท และการกำหนดบริเวณที่จะเป็นเขตอนุรักษ์ หรือเขตการจัดการต่างๆ สิ่งที่ห่วงคือตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก ทางกัมพูชาจะเป็นผู้จัดทำแผนที่ ไม่ได้ระบุว่าไทยจะมีส่วนร่วมอย่างไร และการทำแผนที่ครั้งนี้มีการจัดทำเขตบริหารจัดการ อ้างอิงถึงแผนผังที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก แต่ปรากฏว่าแผนผังดังกล่าว แม้แต่คณะ กรรมการมรดกโลกของฝ่ายไทยก็ยังไม่มี เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก เพราะกัมพูชาจะจัดทำเรื่อง และส่งไปให้คณะกรรมการมรดกโลก ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2552 นี้
แถลงการณ์ร่วมส่งผลร้ายแรงเกินคาด
เมื่อถามว่าจากการได้ฟังคำชี้แจงของนายปองพลทางพรรคประชาธิปัตย์พอใจแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ใช้คำว่าพอใจหรือไม่คงลำบาก เพราะมติที่ออกมาคิดว่า กรรมการของไทยก็คงไม่พอใจ และพยายามให้ใส่ข้อเท็จจริง บางอย่างลงไป ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกก็รับรู้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วม หรือความปรารถนาที่จะขึ้นทะเบียนร่วมกัน แต่เมื่อได้ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวแล้ว ทางคณะกรรมการมรดกโลกไทยก็ห่วง และ อยากเห็นความชัดเจนในเชิงนโยบายว่าจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคก็ยังคงดำเนินการถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไปใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า การตรวจสอบของฝ่ายค้านก็ทำต่อไป และยิ่งดูมติครั้งนี้ยิ่งทำให้เรามองเห็นว่า ถ้าปล่อยให้แถลงการณ์ร่วมมีผลความเสียหายมหาศาลจริงๆ อย่าว่าแต่รอบๆปราสาทเลย จะเลยไปถึงแผนที่ด้วย และตัวที่ไปฉุดให้ความเสียหายลดลงคือ การคัดค้านของทุกฝ่ายจนทำให้แถลงการณ์ร่วมใช้ไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องชี้แจง อยากให้รัฐบาลเร่งทำเรื่องนี้เร่งด่วน และต้องอาศัยช่องทางในอนุสัญญากรุงเวียนนา โดยปกติแล้วเรื่องกฎหมาย หรือการตัดสินภายในจะเป็นเรื่องภายใน แต่ยกเว้นไว้กรณีไปละเมิดกฎหมายสำคัญ ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ
“บุญสร้าง” ชี้เขาพระวิหารเป็นบทเรียน
วันเดียวกัน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ทางกองบัญชาการกองทัพไทย จะจัดการสัมมนาวิชาการเกี่ยวประเด็นปราสาทเขาพระวิหารในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า ในการทำงานมีบทเรียนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเสียหรือไม่เสียก็ตาม คิดว่าในประเทศชาติควรมีเวทีอย่างนี้บ่อยๆ เพราะจะทำให้อะไรดีขึ้น และจะมีความโปร่งใส ประชาชนได้รับรู้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาพูดเสมอว่าเรื่องนี้เป็นปัญหายากและลึกซึ้ง จึงต้องอาศัยการคุยกันของหลายฝ่าย และในการสัมมนาจะแสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อถามว่า แสดงว่ากองบัญชาการกองทัพไทยไม่มั่นใจในข้อมูลของกรมแผนที่ทหาร ที่เคยแถลงใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างตอบว่า กรมแผนที่ทหารมีหน้าที่ทางเทคนิคเท่านั้น โดยมีหน้าที่แค่ไปวัดเท่านั้น ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะไปเคลียร์เรื่องนี้ด้วย ส่วนใครจะไม่พอใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหน้าที่ของเขาไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่า ตรงไหนเป็นเขตแดน และไม่ได้อึดอัดใจอะไร เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า แผนที่ที่ทางกัมพูชาเสนอให้ทางกรมแผนที่ทหารดู เป็นคนละฉบับกับที่เสนอให้ยูเนสโก พล.อ.บุญสร้างตอบว่า ไม่ทราบ แต่เรื่องพวกนี้ซับซ้อน หากไม่เข้าใจจะพูดกันไปเรื่อย และจะทำให้เกิดปัญหามากมาย
“บุญสร้าง” โยนกลาโหมเชือด “ปฐมพงษ์”
พล.อ.บุญสร้างกล่าวถึงความผิดของ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย กรณีที่แต่งเครื่องแบบทหารกล่าวโจมตีรัฐบาลบนเวทีพันธมิตรฯว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยบังคับบัญชาจะมีการดำเนินการทางวินัยทหาร คือทำได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน ส่วน รมว.กลาโหม จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนั้นก็สามารถทำได้ แต่หน่วยเจ้าของนั้นทำได้อย่างมากแค่ว่ากล่าวตักเตือน ส่วนจะทำอะไรให้มากกว่านั้นเป็นอีกระดับหนึ่ง บางทีเขาอาจจะใช้อำนาจที่เหนือกว่า อย่างระดับกระทรวง เมื่อถามว่า เป็นเพราะ รมว.กลาโหมเกรงว่าทหารจะเข้าข้าง พล.อ.ปฐมพงษ์หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างตอบว่า ไม่ทราบ แต่คิดว่าท่านอยู่ในระดับสูงขึ้นไป ท่านต้องมองอีกระดับที่น่าจะดี อีกทั้งหน่วยในระดับสูงมีเครื่องมือที่จะทำได้มากกว่าหน่วยระดับเรา เมื่อถามว่า ท่านจะเชิญ พล.อ.ปฐมพงษ์มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างตอบว่า เดี๋ยวคงจะพบกัน แต่เรื่องการกล่าวตักเตือนได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด ว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว ทั้งนี้ หากทหารจะมาร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯนอกเวลา และไม่แต่งเครื่องแบบก็ไม่เป็นไร ความจริงอนุมัติโดยไม่ได้พูดถึงรายละเอียดและเนื้อหา เพราะคิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ และการไปแสดงตัวอยู่ที่นั่นคงจะเป็นผู้ใหญ่ ควรจะไปสร้างบ้านสร้างเมืองจะดีกว่า เขาเรียกว่าให้เกียรติกัน
กรมพระธรรมนูญเร่งสอบ “ปฐมพงษ์”
พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ ในฐานะกรรมการตรวจสอบความผิดของ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย กรณีที่แต่งเครื่องแบบขึ้นเวทีพันธมิตรฯกล่าวโจมตีรัฐบาล กล่าวถึงการตรวจสอบความผิดของ พล.อ.ปฐมพงษ์ว่า เพิ่งได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความผิด โดยท่านขอคำปรึกษาว่าการกระทำของ พล.อ.ปฐมพงษ์มีความผิดในทางกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมหรือไม่ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ส่วนที่โฆษกกระทรวงกลาโหมบอกว่า พล.อ.ปฐมพงษ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 นั้น ท่านแถลงเอง แต่ ไม่ใช่เป็นผลสรุปจากทางกรรมการที่กำลังตรวจสอบ ส่วนการที่ พล.อ.บุญสร้างระบุว่า ไม่สามารถเอาผิดกับนายทหารยศจอมพลได้นั้น ก็เป็นความคิดเห็นของท่าน การจะลงโทษหรือไม่เป็นเรื่องของต้นสังกัด เพราะ พล.อ.ปฐมพงษ์สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย
เป็นจอมพลคนแรกที่ขึ้นเวทีปราศรัย
เมื่อถามว่า รมว.กลาโหมมีสิทธิ์สั่งให้ตรวจสอบใช่หรือไม่ พล.อ.อัฎฐพรตอบว่า ท่านมีสิทธิสั่งการ เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร เมื่อท่านสั่งให้มีการตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบ และหากพบว่ามีความผิดด้านระเบียบวินัยข้อไหนบ้าง ทางกรมพระธรรมนูญจะทำรายงานให้ท่านรับทราบ ส่วนการลงโทษในความผิดนั้นคงเป็นเรื่องของท่านและทางต้นสังกัดจะพิจารณา ส่วนการตรวจสอบคงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก ซึ่งตอนนี้ได้ส่งให้ เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจสอบความผิดในลักษณะนี้ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีนายทหารยศจอมพลขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมือง ถือว่า พล.อ.ปฐมพงษ์เป็นนายทหารคนแรกที่ทำแบบนี้
ทภ.2 ยังไม่ขยับตรึงเขาพระวิหาร
ส่วนความเคลื่อนไหวของทัพภาค 2 ที่ดูแลความ สงบเรียบร้อยในบริเวณพื้นที่รอบเขาพระวิหาร ซึ่งมีกลุ่มธรรมยาตราและเครือข่ายอีสานกู้ชาติปักหลักทวงดินแดนริมปราสาทพระวิหารคืนนั้น เมื่อเช้าวันที่ 12 ก.ค. พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถึงการดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยและประชาชนชาวกัมพูชาบริเวณทางขึ้นเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ว่า เราดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีการส่งกำลังไปตรึงบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะสถานการณ์ยังอยู่ในความเรียบร้อยสถานการณ์ยังคงเป็นปกติ ไม่มีปัญหาอะไร เกิดขึ้น ต่อข้อถามถึงทางกองทัพภาคที่ 2 ได้รับคำสั่งในการผลักดันชาวกัมพูชาออกไปหรือไม่ พล.ท.สุจิตร ตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่มี ส่วนร้านค้าของชาวกัมพูชาก็ยังไม่มีอะไร คิดว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ในส่วนของกองทัพภาคที่ 2 จะดูแลพื้นที่ชายแดนให้มีความเรียบร้อย และให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
“จำลอง” ร้องหาทหารอย่านิ่งเฉย
สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่ปักหลักชุมนุมมา 49 วัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตา ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงวัน กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งใน กทม.เอง และต่างจังหวัดเริ่มทยอยเดินทางกันเข้ามาบริเวณที่ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ร่วมลงชื่อถอดถอน คณะรัฐมนตรี เป็นจำนวนมาก ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งสอบวินัยร้ายแรง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย หลังจากขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่มพันมิตรฯ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนเป็นห่วง บางรายบอกกับตนให้ พล.อ.ปฐมพงษ์ฟ้องกลับรัฐบาล ในส่วนของตนคิดว่า พล.อ.ปฐมพงษ์ ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทหารไม่ควรนิ่งเฉยในเรื่องนี้
สวนกลับโฆษกกลาโหมแค่ยศ พล.ท.
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาให้ข่าวว่าการที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เป็นความผิดที่เข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี นั้นจริงหรือไม่ พล.ต.จำลองตอบสวนกลับทันทีว่า โฆษกกระทรวงกลาโหมมียศอะไร ใช่ยศ พล.ท. หรือไม่ ถ้าใช่ โฆษกกระทรวงกลาโหมยศแค่ พล.ท.คงต้องเปรียบเทียบว่าจะเชื่อใครระหว่าง พล.ท. กับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ซึ่งระบุชัดว่าตามกฎระเบียบผู้ที่ครองอัตราจอมพล หากสงสัยว่าทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็ทำได้เพียงพูดคุยตักเตือนเท่านั้น และตนไม่ขอข้องแวะว่าโฆษกกระทรวงกลาโหมพูดทำนองนี้แล้วจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่
เขมรโห่ใส่กลุ่มพิทักษ์เขาพระวิหาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน กลุ่มพลังมวลชนนับร้อยคนที่มารวมตัวกันบริเวณชายแดนเขาพระวิหาร ที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้เริ่มเคลื่อนขบวนไปตามถนนลาดยาง ถึงจุดผ่อนปรนออกหนังสืออนุญาตเดินทางเข้า-ออกนอกประเทศ ที่ได้วางศาลาไทยไว้ตั้งแต่วันเสาร์ที่แล้ว โดยยกศาลาเคลื่อนไปข้างหน้า แต่พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร ผบ.กรมทหารพรานที่ 23 พ.ต.ท.ทิพพงษ์ ทิพยเกสร สวญ.สภ.บึงมะลู นายประเสริฐ อร่ามศรีวรพงษ์ นายอำเภอกันทรลักษ์ อนุญาตให้เคลื่อนศาลาไปได้อีก 59 เมตร แทนที่จะเคลื่อนไปจนสุดทางระยะ 99 เมตร สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเรียกร้อง แต่ หลังจากเปิดฉากเจรจาอยู่พักหนึ่งทางกลุ่มจึงยอม จากนั้นแกนนำกลุ่มคนกันทรลักษ์พิทักษ์เขาพระวิหาร ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่าน พ.อ.ธัญญา จำนวน 3 ข้อคือ 1.ให้ผลักดันชาวกัมพูชาที่ล้ำแดนออกไปภายในวันที่ 19 ก.ค.นี้ 2.ให้นำธงไทยไปปักไว้ที่ บันไดขั้นที่ 16 นับจากปราสาทหลังที่ 1 ลงมา และ 3.ให้ปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยจะระดมกลุ่มพลังมวลชนมารับฟังข้อเรียกร้อง ภายในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่กลุ่มม็อบทำกิจกรรมอยู่นั้น ทางฝ่ายกัมพูชาที่ตลาดได้ขึ้นบนหลังคาบ้านดู พร้อมตะโกนโห่ฮา นายทหารคนหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีกลุ่มม็อบเรียกร้อง ฝ่ายกัมพูชาก็จะดูแบบนิ่งเงียบ เริ่มมีครั้งนี้ที่ตะโกนโห่ฮา จึงเป็นห่วงสถานการณ์ ว่าจะรุนแรงมากขึ้น
ส่วนที่บุรีรัมย์ก็หวิดมีเรื่องตะลุมบอน
ล่าสุดที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อเวลา 20.30 น. วันเดียวกัน ขณะที่นายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์บุรีรัมย์ จะขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล บนเวทีหน้าสถานีรถไฟเมืองบุรีรัมย์ ได้ถูกกลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นลูกสมุนของนักการเมืองในพื้นที่ ขัดขวางไม่ให้ขึ้นปราศรัย พร้อมใช้อาวุธไล่ตี ใช้สิ่งของขว้างปาและเข้ารื้อเวทีปราศรัย จนเกิดใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 3-4 ราย ถูกนำส่ง รพ.บุรีรัมย์ ขณะกำลังมีการรื้อเวทีได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ประชาชนที่เดินทางมาเพื่อฟังคำปราศรัยต่างพากันหนีกระเจิง ส่วนที่บริเวณลานวัฒนธรรม ข้างเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ มีการตั้งจอถ่ายทอดการปราศรัยโจมตีรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯจากกรุงเทพฯทางเอเอสทีวี ให้พี่น้องประชาชนได้รับฟัง พร้อมทั้งมีการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯใน จ.บุรีรัมย์ กลุ่มต่อต้านที่ไปป่วนเวทีของนายโสภณ ได้บุกมาก่อกวน ทำให้ประชาชนทั้ง 2 กลุ่มต่างฮือเข้าหากัน หวิดเกิดการตะลุมบอนกัน ระหว่างนั้น พ.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบก.ภ.จ.บุรีรัมย์ ที่เดินทางมาดูแลความสงบเรียบร้อย ได้ขอร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายยกเลิกการปราศรัย และให้แยกย้ายกันกลับก่อนที่เหตุบานปลายจะเกิดขึ้น