ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ได้สำรวจการเสียชีวิตของหญิงไทยเมื่อปี 2547 พบว่า หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่สูงถึง 5,793 คน จากหญิงไทยที่สูบบุหรี่ทั้งหมดกว่า 5 แสนคน โดยป่วยเป็นมะเร็งปอด 2,489 คน และโรคถุงลมพอง 1,361 คน ทั้งนี้ หญิงไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่แต่ละคน โดยเฉลี่ยมีอายุสั้นลง 11 ปี และป่วยหนักจนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตยาวนานถึง 1.6 ปีก่อนเสียชีวิต จากความสูญเสียดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้หญิงไทยเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่วัยรุ่นที่ยังไม่ติดบุหรี่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ติดบุหรี่ เนื่องจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกติดบุหรี่ด้วย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่ข้อมูลจากประเทศไทยเท่านั้น เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.สเตชี เคนฟิล จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้ตีพิมพ์รายงานวิจัยล่าสุดในวารสารการแพทย์ โดยดร.สเตชีได้ติดตามความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับสาเหตุการเสียชีวิตของพยาบาลจำนวน 104,519 คน ระหว่างปี 2523-2547 รวมเวลา 24 ปี พบว่าพยาบาลเสียชีวิต 12,483 คน จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าพยาบาลที่สูบบุหรี่มีอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเป็น 2.81 เท่าของพยาบาลที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะที่พยาบาลที่เลิกสูบบุหรี่ได้จะมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 1.4 เท่าของพยาบาลที่ไม่สูบบุหรี่
'เมื่อแยกแยะการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พบว่า พยาบาลที่สูบบุหรี่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็น 3.3 เท่า โรคถุงลมปอดพอง 39.6 เท่า มะเร็งปอด 21 เท่า มะเร็งชนิดอื่นๆ รวมกัน 7.25 เท่า และเสียชีวิตจากสาเหตุโรคอื่นๆ 1.87 เท่าของพยาบาลที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้รายงานยังพบว่า พยาบาลที่ยิ่งเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อย อัตราการเสียชีวิตจะยิ่งสูง ' ศ.นพ.ประกิต กล่าวและว่า รายงานยังพบว่าในปี 2540 หญิงอเมริกันเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 165,000 คน รวมจำนวนหญิงอเมริกันที่เสียชีวิตทั้งหมด 3 ล้านกว่าคน ตั้งแต่ปี 2523 และหญิงอเมริกันที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มีอายุสั้นลง 14 ปีต่อคน