พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ยืนยันว่าสถานการณ์ก๊าซแอลพีจีไม่ได้ขาดแคลนแล้ว
โดยดูข้อมูลจาก บมจ.ปตท. พบว่าก๊าซแอลพีจีที่ปตท.สั่งนำเข้า 20,000 ตัน ได้นำเข้ามาจำหน่ายแล้ว และมีการสั่งเพิ่มอีก 40,000 ตัน เกินโควตาที่กำหนดแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งให้มีการขนส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ผ่านทางรถไฟ เพื่อรองรับการใช้ของผู้บริโภค ทั้งภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และขนส่ง อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจี ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรถยนต์ที่เปลี่ยนมาติดตั้งก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีไปขายตามชายแดน เนื่องจากราคาในไทยต่ำกว่า
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องกระทรวงพลังงาน ให้ตรึงราคาก๊าซแอลพีจีจนถึงสิ้นปี รัฐมนตรีพลังงานยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้
และไม่เห็นด้วยที่จะตรึงราคา เพราะขณะนี้มีการใช้ก๊าซแอลพีจีผิดประเภท ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้อำนวยความสะดวกเพื่อให้แท็กซี่ เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซแอลพีจีมาเป็นเอ็นจีวีมากขึ้น โดยมีการให้เงินกู้ 5,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ขณะเดีนวกัน ก็เพิ่มปริมาณปั๊มที่จำหน่ายเอ็นจีวี ซึ่งกระทรวงพลังงานจะส่งเสริมการใช้เอ็นจีวี เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่หาได้ในประเทศ โดยยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราคาก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 8.50 บาท ในปีนี้ 12 บาท ในปี 2552 , 13 บาท ในปี 2553 และประมาณ 20 บาท ในปีต่อไป ซึ่งขณะนี้การใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจาก 600 ตันต่อวัน เป็น 2,400 ตันต่อวัน
ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขาดแคลน เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น
แต่ยังมีการร้องเรียนจากปั๊มขนาดเล็กที่รับก๊าซต่อจากผู้ค้าก๊าซมาตรา 7 รวมทั้งผู้ค้าก๊าซรายย่อย ระบุว่า ก๊าซยังขาดแคลน ซึ่งเรื่องนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันชัดเจนว่า ได้มีการส่งก๊าซอย่างเพียงพอ ดังนั้น ในวันนี้ กรมธุรกิจพลังงาน จึงได้หารือร่วมกับผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อตรวจสอบว่าปริมาณก๊าซตกค้างอยู่ที่ใด รวมทั้งให้กรมธุรกิจพลังงานเป็นวอร์รูม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาแอลพีจีขาดแคลน เพื่อประสานแก้ไขปัญหาต่อไปโดยด่วน