ต้นลำพูสองฝั่งคลองอัมพวา เมืองแม่กลองเริ่มวิกฤต
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมลุยสำรวจพบล้มตายอื้อ เหตุคลื่นเรือหางยาวพานักเที่ยวชมหิ่งห้อยกัดเซาะตลิ่ง บางจุดพังทลายเป็นแถบยาวถึง 3 ก.ม. ส่งผลให้หิ่งห้อยลดจำนวนลงฮวบฮาบน่าใจหาย ขณะที่ชาวบ้านริมคลองต่างเดือดร้อนหนัก เสียงเครื่องเรือหางยาวรบกวนจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน บางบ้านทนรำคาญไม่ไหวถึงขั้นตัดต้นลำพูทิ้ง อีกทั้งรีสอร์ตผุดเป็นดอกเห็ดทับพื้นที่วางไข่หิ่งห้อย อนาคตสูญพันธุ์แน่
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทร สงคราม กล่าวภายหลังชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เพื่อสำรวจต้นลำพูและวิถีชีวิตประชาชนบริเวณริมน้ำ โดยนายสุรจิต กล่าวว่า หลังจากที่มีการโปรโมตการท่องเที่ยวตลาดน้ำ นั่งเรือชมหิ่งห้อย ที่อ.อัมพวาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จากเรือท่องเที่ยวเพียง 3 ลำ ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 170 ลำ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนอัมพวาอย่างมาก ทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสุรจิต กล่าวว่า ทุกวันนี้วิถีชีวิตคนดั้งเดิมอัมพวาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้มีบ้านเรือนอยู่ริมคลองต่างได้รับความเดือดร้อนจากเรือหางยาวชมหิ่งห้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งเสียงดังรบกวนการพักผ่อนตลอดเวลา รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนรีสอร์ตโดยขาดการบริหารจัดการที่ดีทำให้มีปัญหาตามมาหลายอย่าง ทั้งการหลั่งไหลเข้ามาของคนนอกพื้นที่, ปัญหาความแออัดของเรือหางยาวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยไม่มีการจำกัดทำให้เบียดเบียนพื้นที่เรือขายของ, ปัญหาขยะ รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างความกังวลให้กับชาวอัมพวาดั้งเดิมที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในสวนและลำคลอง
นายสุรจิต กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะใช้เรือหางยาววิ่งพานักท่องเที่ยวไปดูหิ่งห้อยที่เกาะอยู่ตามต้นลำพูริมคลอง แต่ละลำมักจะใช้ความเร็วเพื่อดูหิ่งห้อยได้หลายจุด
ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่กัดเซาะชายฝั่งเกิดความเสียหายต่อดินริมตลิ่งที่พังทลายลงมาเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งน้ำ รวมไปถึงต้นลำพูที่อยู่ของหิ่งห้อยล้มตายไปจำนวนมาก หิ่งห้อยจึงลดน้อยลงเพราะไม่มีที่เกาะ บางส่วนถอยร่นไปอยู่ยอดต้นไปที่ห่างไกลออกไป และปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่พบว่าหิ่งห้อยที่อัมพวากำลังมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ
"เรือหางยาวบางลำพยายามเอาใจนักท่องเที่ยว นำเรือเข้าไปใกล้ต้นลำพูให้ใกล้ที่สุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวสัมผัสหิ่งห้อยเป็นๆ บางคนจับหิ่งห้อยใส่ถุงกลับบ้านด้วย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้เพราะไม่มีการสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าควรจะชมอย่างไรถึงจะไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เรือหางยาวบางลำเมื่อไปจอดอยู่ริมคลองใกล้บ้านคนก็ตะโกนสั่งให้ชาวบ้านปิดไฟในบ้านขณะที่เขากำลังนั่งดูทีวีกันอยู่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นหิ่งห้อยชัดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ เพราะเขาถูกลิดรอนสิทธิ" นายสุรจิต กล่าวและว่า เสียงดังจากเครื่องเรือหางยาวยังเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชาวบ้านริมคลอง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาขอความร่วมมือให้ลดเสียงวิ่งเรือ แต่ ไม่นานก็กลับมาเหมือนเดิม เพราะเขาเชื่อว่าถ้าเรือ เสียงเบา ทำให้วิ่งช้า รับคนได้น้อย ชาวบ้านที่อาศัยริมคลองจึงต้องทนฟังเสียงเรือดังๆ เหล่านี้ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืนในทุกวันสุดสัปดาห์สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
"ขณะนี้อัมพวาควรจะได้รับการดูแล และจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพราะทุกคนก็รู้ปัญหาแต่ไม่มีการพูดคุยจัดการที่ถูกวิธี และพยายามบอกแต่ว่าทุกอย่างดีหมด ในขณะที่ปัญหาถูกหมักหมมอยู่ ถ้าอยากให้อัมพวาเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบนี้ไปอีกยาวนาน ไม่จบลงภายในไม่กี่ปีนี้ทุกฝ่ายก็ต้องมาช่วยกัน" นายสุรจิตกล่าว
แฉต้นลำพูอัมพวาตายอือ-หิ่งห้อยลดฮวบ
ด้านนายปรีชา เจี๊ยบหยู ประธานศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวน อ.อัมพวา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งคลองอัมพวา และแม่น้ำแม่กลองจะมีต้นลำพูขึ้นเองตามธรรมชาติจำนวนมาก
และในต้นลำพูเหล่านั้นก็จะเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อยจำนวนเป็นล้านๆ ตัวระยิบระยับไปหมด แต่หลังจากที่มีเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวเข้าไปชมหิ่งห้อย ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนหิ่งห้อยลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 70% ของที่เคยมีปัญหาสำคัญเกิดจากต้นลำพู หายไป ซึ่งมีสาเหตุ 2 ประการคือ ชาวบ้านตัดทิ้งเพื่อตัดความรำคาญไม่ให้เรือหางยาวเข้ามาดู และปัญหาตลิ่งริมน้ำพังทำให้ต้นลำพูตายไปด้วย
"ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านตัดต้นลำพูจริงทำให้หิ่งห้อยไม่มาเกาะ แต่เป็นการตัดแบบเหลือกิ่งไว้เพื่อให้ต้นลำพูงอกขึ้นมาอีก แต่ปัญหาสำคัญกว่านั้นก็คือการที่คลื่นใหญ่เข้ามาซัดฝั่งทำให้ตลิ่งพัง ต้นลำพูริมคลองก็ตายไปด้วยเพราะไม่มีดินยึดราก หาอาหารไม่ได้ ตอนนี้เท่าที่สำรวจพบว่าตลิ่งพังยาวไปถึง 3 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่ต.ลมทวน ต้นลำพูเสียหายมาก โดยเฉพาะต้นที่อยู่แถวนอก ไม่เชื่อมาดูกันได้ทั้งของจริง แล้วก็ภาพถ่ายที่ชาวบ้านถ่ายรูปไว้ หิ่งห้อยจึงไม่มีที่เกาะ มันก็ถอยร่นขึ้นไปเกาะยอดต้นมะพร้าวบ้าง ต้นไม้อื่นบ้าง ในขณะที่บริเวณที่มันวางไข่ พวกต้นไม้ผุๆ ชื้นๆ ก็ถูกรีสอร์ตที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเอาดินถมทับที่วางไข่ของมันไปหมด แล้วอย่างนี้จะให้มันเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างไร" นายปรีชา กล่าว
นายปรีชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนและชาวบ้านพยายามหาไม้ไปปักริมฝั่งตลิ่งเป็นทางยาวเพื่อไม่ให้เรือหางยาวเข้าไปใกล้ต้นลำพู แต่ไม่นานก็ถูกเรือหางยาวใช้เชือกผูกติดกันแล้ววิ่งถอนขึ้นมาหมด
หาทุกวิถีทางก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของตลิ่งพังก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าตลิ่งจะพังตามธรรมชาติ แต่เท่าที่ชาวบ้านมีความรู้มาตั้งแต่อดีต ฝั่งที่ตลิ่งพังเป็นฝั่งด้านคุ้งไม่ใช่ด้านแหลม แต่หน่วยงานนี้กลับบอกว่าตลิ่งพังเองตามธรรมชาติโดยไม่ได้มาดูข้อเท็จจริงสักนิด ชาวบ้านจึงหมดความหวัง
นายปรีชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามหาทางออกร่วมกันกับผู้ประกอบการ โดยขอให้ยกเลิกการใช้เรือหางยาววิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวแบบระยะทางยาว
เพราะจะต้องใช้ความเร็วและเสียงดัง ให้นำรถรับส่งนักท่องเที่ยวมายังจุดที่ใกล้ที่สุดก่อนจะพานั่งเรือพายไปชมหิ่งห้อยแทน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเพราะผู้ประกอบการคิดว่าไม่คุ้ม และขณะนี้ก็พบว่าเรือหางยาวส่วนใหญ่ก็มาจากท้องที่อื่นๆ ทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จนล่าสุดชาวบ้านโดยเฉพาะที่ต.ลมทวน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีหิ่งห้อยอยู่มากรวมตัวกันเพื่อที่จะรณรงค์ให้ใช้เรือพายชมหิ่งห้อยเพื่อปลุกจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยวว่าการดูหิ่งห้อย ควรจะเข้ากับธรรมชาติ แต่ก็ประสบปัญหาสู้คลื่นเรือหางยาวไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องลงมาดูแลอย่างจริงจังเสียที
"อยากจะให้การท่องเที่ยวอัมพวายั่งยืนก็ต้องช่วยกันดูแล แต่ก็ถูกพวกที่มีผลประโยชน์กับอัมพวา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนอัมพวาด่าตลอดหาว่าไม่อยากให้อัมพวาเจริญ แต่ถ้าเจริญแล้วต้องเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเรา เราคงไม่เอา ชาวบ้านก็ไม่เอาด้วยเพราะถึงไม่มีการท่องเที่ยวพวกเขาก็มีกิน ยิ่งมาทำเสียงดังรบกวน เขาก็บอกว่าจะสู้แบบชาวบ้านๆ อย่างใช้หนังสติ๊กยิง คนขับเรืออาจจะต้องใส่หมวกกันน็อก แต่เราก็พยายามช่วยกันหาทางออกที่ดีกว่านั้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทุกฝ่ายควรจะลงมาช่วยกัน ไม่อย่างนั้นอีกไม่กี่ปีนี้หิ่งห้อยต้องหมดไปแน่ๆ" นายปรีชา กล่าว