กรมศุลจัดชุดล่า แก๊งค้าไม้พะยูง

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร

มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 2 เป็นหัวหน้าชุดปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม หลังจากพบว่า มีการลักลอบส่งออกไม้พะยูงเป็นจำนวนมาก และมีผลการจับกุมนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปี 48 จนถึงปัจจุบัน ถึง 572 ตู้คอนเทนเนอร์ สามารถจับผู้นำส่งได้ 237 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 572 ล้านบาท มีปลายทางอยู่ที่ประเทศจีน

 

อธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยถึงที่มาของปัญหาการลักลอบส่งออกไม้พะยูงนั้นว่า

เป็นเพราะความต้องการใช้ไม้พะยูงของประเทศจีนสูง เพื่อใช้ซ่อมแซมพระราชวังที่เก่าชำรุดทรุดโทรม และสิ่งปลูกสร้างเตรียมงานโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ประกอบกับผู้กระทำความผิดมีสิ่งจูงใจในด้านราคา เนื่องจากราคาซื้อขายไม้พะยูง ในไทยถูกกว่า 1 เท่าตัวของราคาซื้อขายที่ประเทศจีน ไม้ พะยูง 1 ท่อน ความยาว 1-2 เมตร ซื้อในไทยราคาท่อนละ 150,000-180,000 บาท ถ้าส่งไปยังจีนจะสูงถึง 300,000 บาทอย่างต่ำ ทำให้มีผู้ลักลอบยอมเสี่ยงต่อการจับกุม ส่งผล กระทบไปถึงการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ปลูกได้เฉพาะในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา
ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด


นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 2 เปิดเผยว่า

ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป่าไม้ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งถูกนายทุนจ้างผู้ลักลอบเข้าไปรุกพื้นที่ตัดไม้พะยูงออกมา เบื้องต้นได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเส้นทางของกลุ่มผู้ลักลอบที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดในการตรวจจับ จะอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ต้นทางผู้ลักลอบจะใช้รถบรรทุกสิบล้อขนไม้พะยูงที่ตัดแล้วเป็นท่อนๆ มาพักไว้ตามชานเมือง แถบ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร ก่อนจะใส่ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาพักตามท่าเทียบเรือ ด้วยวิธีการตบตาเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหลีกเลี่ยง สำแดงในเอกสารเป็นพวกเฟอร์นิเจอร์ เม็ดพลาสติก เซรามิก แผ่นกระเบื้อง ไฟเบอร์การ์ด เสื้อผ้า ผลไม้แช่แข็ง ซึ่งยากต่อการตรวจจับ


 ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 2 กล่าวว่า
 
หลังจากได้ข้อยุติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการดำเนินการกับไม้ของกลาง ทำให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดการตื่นตัว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นพบว่า หลังมีการจับกุมแล้วไม่ทราบว่าจะนำของกลางไปเก็บไว้ที่ใด กระทั่งถูกฟ้องร้องจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่กล้าตรวจจับ กลายเป็นช่องทางให้ ผู้ลักลอบใช้ต่อสู้ทางกฎหมาย แต่ต่อไปนี้ได้ประสานความร่วมมือ และทำความเข้าใจกันแล้ว กรมศุลกากรรับเป็นเจ้าภาพ มีเป้าหมายคือหยุดขบวนการผู้ลักลอบขนไม้พะยูงอย่างจริงจัง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์