เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสัมนาการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับได้ด้านนันทนาการ และการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ
นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 108 แห่ง และเตรียมที่จะประกาศอีก 2 แห่ง ส่วนอีก 40 แห่งกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพบว่าในแต่ละอุทยานล้วนได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สำหรับการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรักษาพื้นที่ป่าไว้ ในการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ และการรักษาป่าสำหรับการศึกษาวิจัย เพราะปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันอุทยานแห่งชาติ ที่มีปัญหามากๆ หลักๆ ก็คือการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่ไม่สมดุล
โดยเฉพาะช่วงวันหยุด เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วงวันหยุดสำคัญ จะมีนักท่องเที่ยวถึงวันละ 3-4 หมื่นคน ในขณะอุทยานสามารถรองรับได้แค่ 3-4 พันคนเท่านั้น จำนวนรถยนต์ รองรับได้ 1-2 พันคัน แต่กลับมีรถเข้าไปถึง สี่ถึงห้าพันคัน ทำให้กลายอุทยานฯ กลายเป็นลานจอดรถ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องขยะ และที่พักตามมา เป็นต้น
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของกรมอุทยานจะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ใน 10 อุทยานแห่งชาติสำคัญ
ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ ห้วยน้ำดัง กำหนดให้หนักท่องเที่ยวเข้าพักค้างคืนได้สูงสุด 1134 คน ไปกลับ 850 คน ,อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก พักค้างคืนได้ 1000 คน ไปกลับ 1100 คน,อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ พักค้างคืนได้ 800 คน ไปกลับ 2500 คน,อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ค้างคืนได้ 850 คน ไปกลับ 2900 คน,อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ค้างคืน 5300 คน ไปกลับ 300 คน,อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พักค้างคืนได้ 2650 คน ไปกลับ 3235 คน,อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ค้างคืนได้ 742 คน ไปกลับได้ 2000 คน,อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ค้างคืนได้ 1500 คน ไปกลับ 1500 คน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ค้างคืนได้ 620 คน ไปกลับ 6520 คน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ค้างคืนได้ 180 คน ไปกลับ 1410 คน
“ในการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานฯในครั้งนี้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางข้าไปในภายอุทยานฯ ในช่วงเทศกาล ลดลงถึงร้อยละ 50 ส่วนในช่วงวันธรรมดา จะทำให้ลดลง 20-30 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ยอมรับว่า อาจจะกระทบต่อรายได้การเก็บค่าเข้าชมอุทยานฯ ถึงครึ่งหนึ่ง จากรายได้ที่เคยจัดเก็บได้ 400 ล้านบาทต่อปี เพราะจุดประสงค์สำคัญของการจำกัดนักท่องเที่ยวก็เพื่อ ฟืนฟูระบบนิเวศภายในอุทยานฯ รวมทั้งเป็นการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วย ส่วนอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ที่เหลือจะเริ่มดำเนินการต่อไป โดยเริ่มจากอุทยานที่มีคนเข้าไปเที่ยวจำนวนมาก รองจากอุทยานฯ ยอดนิยม 10 แห่งที่ประกาศครั้งนี้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรหากมีนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ทราบข่าวการจำกัดจำนวนคนที่จะเดินทางเข้าไปในอุทยานฯ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า คงยังไม่ต้องถึงขั้นว่าจะต้องรับจำนวนรายคน แต่อาจจะมีการยืดหยุ่นบ้าง พร้อมกันนี้จะมีการประเมินผลโครงการนี้หลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งว่าประชาชนจะพอใจหรือไม่ต่อไป